กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งฝึกอบรม อสม.นักวิทย์ 5 พันคนทั่วประเทศ ให้เป็นพี่เลี้ยงสอนวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองแก่ประชาชน การแปลผล การลงผลตรวจ ให้คำแนะนำ และประสานระบบการดูแลรักษา ช่วยโรงพยาบาลแจกจ่ายชุดตรวจ และลงพื้นที่ตรวจติดตามประชาชนกลุ่มเสี่ยง และได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมอบรมการใช้ ATK แก่พนักงานโรงงานแล้วกว่า 2,000 แห่ง
วันนี้ (29 สิงหาคม 2564) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า
ตามเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ที่ ศบค.เห็นชอบ คือ มาตรการ COVID Free Setting ซึ่งจะต้องมีการทยอยฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่กำหนด ประชาชนต้องใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดตลอดเวลา หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการองค์กรเพื่อป้องกันการติดเชื้อจำนวนมาก และ
การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ซึ่งจากนี้ไปจะมีการตรวจด้วยตนเองจำนวนมาก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากตรวจทุก 3-5 วัน และผู้มีความเสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องตรวจอย่างถูกต้อง แปลผลถูกต้อง เพื่อดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม เช่น หากผลบวกดำเนินการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือเข้ารับการแยกกักที่ชุมชน (Community Isolation) หากผลเป็นลบต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วันหรือมีอาการ เป็นต้น และมีการจัดการขยะติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงดำเนินการฝึกอบรม อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม.นักวิทย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและสอนวิธีใช้งานชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองให้แก่ประชาชน และร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจัดอบรมการใช้ ATK ที่ถูกต้องให้แก่พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์ กว่า 2,000 แห่ง โดยสอนการจัดการขยะติดเชื้อ ช่วยแปลผล ให้คำแนะนำช่วยลงผลตรวจ และช่วยประสานระบบการดูแลรักษา รวมถึงสามารถดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลในการวางแผนการเข้าถึงชุดตรวจของประชาชน ช่วยแจกจ่ายชุดตรวจ สนับสนุนการเฝ้าระวังในพื้นที่ คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน และช่วยติดตามการตรวจหรือต่อเนื่องในกลุ่มที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามมีการนำร่องฝึกอบรม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จ.พิษณุโลกแล้ว และจะขยายการฝึกอบรม อสม.นักวิทย์ 5 พันคนทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์
ทั้งนี้ กระบวนการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การให้ความรู้ ทั้งแนวทางและข้อควรระวังการใช้
ชุดตรวจ ATK วิธีการใช้ชุดตรวจด้วยตนเอง การอ่านและแปลผล การลงข้อมูลผลการตรวจ การปฏิบัติตนหลังทราบผล การสวมและถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล และการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยมีการประเมินความรู้เบื้องต้นโดยแบบทดสอบ และ 2.การฝึกปฏิบัติภาคสนาม ทั้งในพื้นที่ ตลาดสด และชุมชน ฝึกให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในชุมชน เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ร่วมตรวจ ATK ในกลุ่มเปราะบาง ฝึกลงข้อมูล
ผลตรวจในแอปพลิเคชัน ประเมินทักษะโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และยังมีการจัดทำคู่มือเพื่อประกอบการดำเนินงานให้แก่ อสม.ด้วย