เปิดเวที STO Forum ครั้ง4 สกสว. จับมือพันธมิตร อว.ยกระดับสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีไทยทัดเทียมนานาชาติ

เปิดเวที STO Forum ครั้งที่ 4 สกสว. จับมือพันธมิตรหน่วยงานใน อว. ร่วมยกระดับสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในไทย ให้ทัดเทียมนานาชาติ

           

ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (สกสว.)  เข้าร่วมประชุม  “Science and Technology Organization Forum (STO Forum)” ครั้งที่ 4/2564   ในรูปแบบออนไลน์  ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการหารือระหว่าง สกสว. และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  ในการกำหนดทิศทาง การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว.   กล่าวถึง การยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติว่า ปัจจุบันโลกอยู่ยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานและสร้างนวัตกรรมในเชิงบูรณาการ ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติได้ ยิ่งไปกว่านั้น การจัดตั้งกระทรวง อว. ในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ (เดิม) และ สกอ. (เดิม) สามารถทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.  ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง อว. ว่าควรเร่งฝีเท้าในการศึกษาตัวชี้วัดที่เป็น Super Indicators ต่างๆ เพื่อผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้สามารถเทียบเคียงกับนานาประเทศได้ โดยใช้พลังของทั้งระบบอุดมศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. ของประเทศ

ในช่วงต่อมา ได้มีการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ในประเด็นเป้าหมายและการเปรียบเทียบสมรรถนะ (Goal and Benchmark)  กล่าวคือ หากหน่วยงานต้องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับหน่วยงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว  การเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) ที่มีอยู่เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และข้อเสนอแนะต่อกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  เพื่อสนับสนุนการทำงานของแต่หน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน โดย สกสว. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมวันนี้ไปออกแบบและพัฒนาแนวทางต่อไป  

นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการจัดการประชุม มีการบรรยายของหน่วยงานสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหมุนเวียนกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และผลการดำเนินงานสำคัญของสมาชิก ในครั้งนี้ ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISDA ได้ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “การวิจัยขั้นแนวหน้าเรื่องระบบโลกและอวกาศ: ต้นแบบซอฟต์แวร์ควบคุมดาวเทียมโดยคนไทย” ซึ่งได้ช่วยฉายภาพว่าในปัจจุบัน คนไทยสามารถสร้างระบบควบคุมดาวเทียม (Onboard flight software) ได้ด้วยตนเองแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ และสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการดำเนินการวิจัยพัฒนาระบบควบคุมดาวเทียมภาคพื้น โดยนักวิจัยและวิศวกรของ GISTDA  ที่ใช้เวลาศึกษาพัฒนามาอย่างยาวนานถึง 20 ปี

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *