ปลัด อว.ปาฐกถาพิเศษ ฉายชัด อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 ชู BCG เครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน-มีมูลค่าสูง งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ปลัด อว.ปาฐกถาพิเศษ ฉายชัด อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 ชู BCG คือ เครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทัพเสนอแนะแนวทางการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมใหม่ เพื่อวางรากฐานสำคัญของก้าวต่อไปโดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังวิกฤตโควิด-19 คือ การวิจัยและนวัตกรรม ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง นั่นคือ BCG ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 สรุปว่า เราอยู่กับโควิดมา 3 ปี ปีที่แล้วเรายังไม่แน่ใจว่าเราอยู่ตอนไหนของโควิด แต่ปีนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าเราค่อนข้างผ่านโควิดไปแล้ว สำหรับตนไม่ได้ไปต่างประเทศมา 2 ปี เพิ่งไปต่างประเทศอีกครั้งเมื่อไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา ไปที่ยุโรปดูเหมือนไม่เคยมีโควิดมาก่อนเลย เหมือนเพียงเราหายไป 2 ปีแล้วกลับมา ณ เวลานี้ โดยส่วนตัวจึงไม่คิดว่า โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่คิดว่าโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ที่ผ่านมาทุกประเทศเห็นตรงกันว่า ไทยรับมือกับโควิดได้ดีมากซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ถ้ามองย้อนไปเรื่องที่เราทำได้ไม่ดีคือ เราต้องหยุดเดินทางระหว่างประเทศ เราได้รับผลกระทบอย่างมากจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของไทย การท่องเที่ยวเป็นรายได้ 1 ใน 5 ของจีดีพี และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยยังขึ้นอยู่กับประเทศเดียวหรืออย่างมาก 3 ประเทศ ทำให้เราได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างมากและฟื้นตัวได้ช้า

ปลัด อว. กล่าวว่า แนวโน้มของโลกที่โควิด-19 มา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมาก แต่ที่เราเจอจะมากกว่าพื้นฐานทั่วไปของโลก ได้แก่ สถานการณ์ Demographic change (การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์) คือคนอายุยืนอย่างชัดเจน ในทุก ๆ 10 ปี จะอายุยืนขึ้น 2 ปี คนตายช้าลง คุณภาพชีวิตทั่วไปดีขึ้น คนเกิดน้อยลง ในไทยสังคมสูงวัยจะมาแรงมากซึ่งจะมีผลกระทบต่าง ๆ ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างจะสูงขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เกิดการเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกจากสังคมตะวันตกมาสู่สังคมตะวันออก

ส่วนประเทศไทยมีเรื่องท้าทายอยู่ 6 เรื่อง คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางจะยากขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกลุ่มเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องวางรากฐานเศรษฐกิจในยุคต่อไปของประเทศต้องเปลี่ยนการพึ่งพาท่องเที่ยวที่พึ่งพาประเทศเดียวเป็นหลัก มาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีความยั่งยืนและมูลค่าสูง หนึ่งในนั้นคือ BCG เชื่อว่าเป็นเครื่องจักรที่ทำให้ไทยโตได้ไวและมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ปลัด อว. กล่าวว่า key word ของเราที่จะต้องปรับตัวคือ การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน คนมีความสุข และสังคมดี ยืดหยุ่น สิ่งแวดล้อมดีการสร้างสมดุลต้องทำทุกมิติโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งอาหาร อาชีพ สุขภาพ พลังงาน และการศึกษา เป็นทิศทางที่ประเทศไทยน่าจะต้องเดินไป เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มมองเห็นความชัดเจนว่าจะต้องดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่มาจากภายใน จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง เราจะต้องมองไปข้างหน้าใน 20 ปี จะเป็นอย่างไร ต้องฉายภาพให้ชัดเจนและมีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งโครงสร้างประชากร อาชีพ คนจะอยู่แบบไหน โครงสร้างของเมืองและชนบทจะเป็นอย่างไร อาหารการกิน ถ้ามีภาพเหล่านี้จะทำให้เรามีความชัดเจนมากขึ้น

จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ ทิศทางวิจัยและนวัตกรรม กุญแจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังโควิด-19” โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรม สาธารณสุข และ คุณวิโรจน์ นรารักษ์ โดยมี ศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล นายกสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ดำเนินรายการ

นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ
ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
ผอ.สำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรม สาธารณสุข

คุณวิโรจน์ นรารักษ์  รองเลขาธิการฯ

รักษาราชการแทน. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล
นายกสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วช.ได้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โดยระหว่างปี 2563-2565 วช.ได้สนับสนุนงบวิจัยทางด้านโควิด-19 ราว 700 ล้านบาทจาก 210 โครงการ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ได้เป็นอย่างดี และได้รับการยอมรับในระดับนโยบาย

งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดถึง 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *