มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานแถลงข่าว RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต และขอบคุณสื่อมวลชน ประจำปี 2568 โดยได้รับเกียรติจากดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธาน พร้อมกล่าวถึงความก้าวหน้าและการพัฒนาในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การมอบทุน 40 ปี 40 ทุน มหาวิทยาลัยรังสิต การสร้างอาคารใหม่ คณะบริหารธุรกิจ รวมทั้งการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข ณ ห้องกมลทิพย์ 2-3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแถลงข่าวในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ISO17025 มาตรฐานสากล ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือ LAB โดย รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต , “ญี่ปุ่นสัมพันธ์” เดินหน้าสร้างความร่วมมือฝึกงานสหกิจ สร้างบัณฑิตไทยสไตล์ญี่ปุ่นสู่โลกแห่งการทำงานจริง โดย ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , ความพร้อมของ RSU ที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยไปสู่ความสำเร็จ โดย นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ ที่ปรึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต และ 16 ปี อาชญาวิทยา ม.รังสิต โดย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตเตรียมมอบทุนการศึกษาในโอกาสครบรอบ 40 ปี “Future Change Agent” โดยมหาวิทยาลัยรังสิตมีความภูมิใจในการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยึดมั่นในคุณธรรม และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงมอบทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร (100%) ให้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2568
ทุนการศึกษานี้มุ่งหวังที่จะมอบโอกาสให้ผู้ที่มีความตั้งใจในการใช้ความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสังคมและโลกในอนาคต ด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมและค่านิยมที่ดี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อสังคมในทุกมิติ เป็นการยกระดับการศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีและมีคุณค่าต่อสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการสร้างผู้นำที่มีคุณธรรมและมีความสามารถในการนำการเปลี่ยน แปลงที่สำคัญในอนาคต โดยทุนการศึกษาดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. พลังงานและสิ่งแวดล้อม 2. คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม และ 3. ศิลปะสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ หรือด้านอื่นๆ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับจังหวัด ระดับชาติ ระดับนานาชาติ หรือผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วม workshop เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และเลือกเฟ้นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม การพิจารณาจะครอบคลุมถึงผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัครในกลุ่มที่เลือกสมัครมา ผลงานที่ส่งเข้ามาต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำและศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลง การคัดเลือกในรอบสุดท้าย ผู้สมัครจะต้องแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะหลัก ดังนี้ 1. มีพลังเชิงบวกและสามารถสร้างความร่วมมือกับผู้อื่นได้ 2. มีวิสัยทัศน์เชิงสร้างสรรค์ 3. มีความเป็นผู้นำ นักวางแผนเชิงกลยุทธ์ 4. มีความสามารในการเป็นผู้ประกอบการ และ 5. สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ทุนการศึกษานี้จะครอบคลุมเฉพาะการเรียนที่จัดสอนโดยมหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้นยกเว้น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ โดยมีกำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2568 ประกาศผลรอบคัดเลือก วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 120 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Work shop วันที่ 21-22 มีนาคม 2568 และประกาศผลผู้ได้รับทุนการศึกษา วันที่ 22 มีนาคม 2568 (จำนวน 40 ทุน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/haFncxO
ด้านรศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมเปิดให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ด้วยมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน ในปี 2568 โดยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ผลิตบัณฑิตมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 ที่เน้นการให้การศึกษาในรูปแบบการให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์(Paradigm) ทางด้านการแพทย์จาก Volume Based เป็น Value Based ที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแทนการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้วิศวกรชีวการแพทย์ซึ่งมีบทบาทรับผิดชอบทางด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์และยารักษาโรค ซึ่งความถูกต้องและความแม่นยำของการทำงานของเครื่องมือแพทย์มีความสำคัญยิ่ง เพราะถ้าข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือแพทย์และการทำงานไม่ถูกต้องจะส่งผลทำให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ผิดพลาดไปด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน
วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิตนั้น ได้เปิดศูนย์ที่ชื่อว่า ศูนย์นวัตกรรมและบริการวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering Inovation and Sevices Center: BIS Center) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 และในปีการศึกษา 2564 มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับบริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ในการสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมกว่า 200 พารามิเตอร์ และมีโครงการที่จะขยายงานเพื่อให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทางมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 จึงให้การรับรอง ส่งผลทำให้ศูนย์ BIS ภายใต้วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 200 พารามิเตอร์ภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ร่วมกับ บริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ได้ และจะเริ่มให้บริการภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมสำหรับการประกอบวิชาชีพระดับสากล ผ่านโครงการฝึกงานสหกิจศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมที่นักศึกษาจะได้สัมผัสกับระบบการทำงานและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ความสำเร็จของโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทั้งนี้ในปี 2566 มีนักศึกษารุ่นที่ 1 จำนวน 2 คน เดินทางไปฝึกงานที่ Fujiya Hotel เมือง Hakone จังหวัดคานางาวะ โรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีประวัติยาวนานกว่า 145 ปี และรุ่นที่ 2 มีนักศึกษาอีก 2 คนเข้าร่วมฝึกงานในตำแหน่งงานต้อนรับและบริการอาหารที่ Fujiya Hotel เช่นเดียวกัน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา วิทยาลัยศิลปศาสตร์ได้เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่น โดยมีการเจรจากับองค์กรในหลากหลายสายงาน ทั้งด้านการโรงแรม ร้านอาหาร และงานในสำนักงาน ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในการฝึกงานให้แก่นักศึกษา แต่ยังเปิดโอกาสให้องค์กรญี่ปุ่นได้พบนักศึกษาไทยที่มีความสามารถและพร้อมเรียนรู้
นอกจากการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นแล้ว วิทยาลัยศิลปศาสตร์ยังได้จัดให้มีโครงการสหกิจศึกษากับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย โดยนักศึกษาเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ที่สำคัญและมีคุณค่าในการทำงานร่วมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในอนาคต วิทยาลัยศิลปศาสตร์มีแผนขยายโครงการสหกิจศึกษาให้ครอบคลุมหลากหลายสายงานมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว