สกสว. หนุนสร้างความเข้มแข็งระบบ ววน. เร่ง Up Skill บุคลากร พร้อมประเมินผลลัพธ์-ผลกระทบจากวิจัย

 
สกสว. หนุนสร้างความเข้มแข็งระบบ ววน.เร่ง Up Skill บุคลากร พร้อมประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัย


ผศ.ดร.ประพัฒน์ชนม์ จริยะพันธ์ุ ผู้อำนวยการสำนักติตตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรม การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัย”  ที่จัดขึ้นเพื่อป็นเวทีสื่อสารความรู้ สร้างความเข้าใจถึงแนวทางการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัย  หนึ่งในกระบวนการทำงานสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัย โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) หน่วยงานรับงบประมาณจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ตลอดจนบุคลากร สกสว. เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน


รศ.ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวให้ข้อมูลถึงความสำคัญและหลักการการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัย ว่า การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัยถือได้ว่ามีความสำคัญ เนื่องจากถือเป็นโอกาสในการพิจารณาให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยอย่างสูงสุด (Maximise Use) ผู้กำหนดนโยบายจะสามารถตัดสินใจใช้งบประมาณด้านการวิจัยที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และประเมินทางเลือกในการจัดสรรและจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

โดยหลักการพื้นฐานของการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัยคือ งานวิจัยที่สร้างความคุ้มค่าในการลงทุน ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่าง (Difference) ให้เกิดขึ้นได้ โดยมูลค่าที่ได้จากการประเมินผลกระทบของงานวิจัย สร้างประโยชน์ใน 2 ประเด็น คือ  1.พิจารณาประสิทธิภาพของเงินลงทุนงานวิจัยในอดีต (Ex-Post evaluation) และ 2.จัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการวิจัยในอนาคต (Ex-Ante evaluation)  
 
การประเมินที่ดีที่สุด คือการประเมินตลอดช่วงเวลาของการดำเนินการโครงการวิจัย แต่ในความเป็นจริงนั้นข้อจำกัดด้านงบประมาณ จะเป็นตัวกำหนด จำนวนครั้งและความลึกในการประเมินโครงการวิจัย

นอกจากนี้ประเภทของการประเมินขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ขององค์กร และระยะเวลาของงานวิจัยนั้นๆองค์ประกอบที่ผู้ประเมินต้องพิจารณาถึงนั้น ประกอบด้วย 1. ผู้ประเมินผลกระทบของงานวิจัย  (บุคคลภายใน หรือ บุคคลภายนอก) 2. รูปแบบของการประเมิน (ก่อน ระหว่าง หรือ หลังการดำเนินงานวิจัย) 3. ขอบเขตของระดับผลประโยชน์  (ระดับฟาร์ม ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือ ระดับโลก) 4. ผลประโยชน์ของโครงการมีอะไรบ้าง  (ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุณภาพสินค้าดีขึ้น เกิดการยอมรับเทคโนโลยี) และ 5. ข้อมูลที่ต้องเก็บรวบรวม อาทิ สถานที่และวิธีการ เป็นต้น


ทั้งนี้สิ่งที่นักประเมินต้องวิเคราะห์ให้เป็นคือ  เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย (Impact Pathways) ซึ่งเป็นการเขียนแผนผังลูกโซ่เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการหรือโปรแกรมการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงานโครงการ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายหลักของโครงการ หรือ แผนที่แสดงโครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานวิจัยกับ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่คาดว่าจะ เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการหรือโปรแกรมวิจัย ประกอบด้วยองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงคือ
1) Inputs คือ ทรัพยากรการลงทุนในการวิจัย
2) Outputs คือ ผลผลิตที่ได้รับจากการวิจัย ในขั้นแรกและชัดเจนที่สุด


3) Outcomes คือ ผลลัพธ์จากการวิจัย ที่มีผู้นำผลผลิตจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผู้ใช้ประโยชน์ประกอบด้วยผู้ใช้ประโยชน์ในขั้นต้น ขั้นต่อๆไป จนถึงขั้นสุดท้าย ทำให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีเพื่อบรรลุผลกระทบ ของการวิจัยต่อไป
4) Impacts คือ ผลกระทบจากการวิจัย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการมีงานวิจัย ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
 
นอกจากนี้บางการประเมิน ยังคำนึงถึงการวัดผลลัพธ์เรื่อง  การยอมรับเทคโนโลยีจากงานวิจัย (Adoption of Technology) และ การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) อีกด้วย
 
ท้ายที่สุดการจัดอบรมในวันนี้ นอกจากเป็นการให้ความรู้หลักการการประเมินผล การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการวิจัย” ยังมีการบรรยายเรื่อง  “การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุน” โดย ผศ.ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การบรรยายเรื่อง “แผนที่ผลลัพธ์” (Outcome Mapping) กับการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนา” โดย ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ และการให้ความรู้เรื่องแนวทางการใช้เทมเพลต (template) เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย (Research to Impact pathway) การคำนวณผลกระทบของโครงการวิจัย ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการ การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากโครงการวิจัยทั้งด้านพาณิชย์ ด้านสังคมพื้นที่ และ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกปฏิบัติและนำไปใช้กับการทำงานของตนได้จริง
 
 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *