สกสว. เดินหน้าขับเคลื่อนงานภายใต้โครงสร้างองค์กรใหม่อย่างมั่นใจ ตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ครั้งที่ 10/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ สกสว.
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณากันวันนี้คือ การขออนุมัติโครงสร้างองค์กร สกสว.ซึ่งเป็นวาระสืบเนื่องมาจาก คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และผู้อำนวยการ สกสว. มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ สกสว. มีศักยภาพพร้อมจะขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้บรรลุตามพันธกิจ เจตนารมณ์และความคาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการศึกษาและออกแบบการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยคณะนักวิจัยจากภายนอก เพื่อศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานและกฎหมาย การศึกษาเปรียบเทียบกับองค์กรในต่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนการสุ่มสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนได้เสีย และจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากร สกสว. อย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบกับโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลัง สกสว. ที่คณะนักวิจัยได้ออกแบบขึ้น และเห็นชอบให้ทดลองเปลี่ยนผ่านโครงสร้างองค์กร เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 30 กันยายน 2564) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า โครงสร้างใหม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สกสว. ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและดำเนินงานตามพันธกิจได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะพบปัญหาเชิงกลไกการทำงานอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นปกติของระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ส่งเสริมให้ สกสว. เป็นองค์กรสมรรถนะสูงได้ และสามารถบรรลุเป้าหมายในการส่งมอบผลลัพธ์ คือการพัฒนาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. วันนี้ จึงมีมติอนุมัติโครงสร้างของ สกสว.
ซึ่งประกอบด้วย
1.สำนัก ตามฟังก์ชัน (Function Based: FB) 6 สำนัก ได้แก่ (1) สํานักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ (2) สํานักบริหารงบประมาณ ววน. (3) สํานักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน (4) สํานักพัฒนาระบบ ววน. (5) สํานักติดตามและประเมินผล และ (6) สํานักบริหารและพัฒนาองค์กร
- กลุ่มภารกิจ ตามเป้าหมายและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Outcome-Stakeholder Based: OSB) 4 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ (1) กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน (3) กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ และ (4) กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกําลังคนและสถาบันความรู้
- หน่วยพิเศษ ตามฟังก์ชัน (Unit: U) 2 หน่วย ได้แก่ (1) หน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ (2) หน่วยตรวจสอบภายใน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (1 ตุลาคม 2564) เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยให้คณะทำงานนำผลการดำเนินงานมารายงานให้คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ทราบ เป็นระยะๆ ต่อไป