![](https://hotspotstation111.com/wp-content/uploads/2021/10/1633688135817_640x358.jpg)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย สำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ ด้านการวิเคราะห์แผนและงบประมาณ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้าน SROI ครั้งที่ 1 ภายใต้ธีม“Financial Proxy and Best Practice of SROI” ในรูปแบบการประชุมออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการที่มีความสนใจด้านการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย รวมถึงด้านการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยใช้เทคนิคการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) หรือ SROI ในการประเมินมูลค่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการร่วมกัน
![](https://www.education4plus.com/wp-content/uploads/2021/10/DC7F76E7-CD20-486C-92EE-986EA1F2FD99-500x281.jpeg)
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. ให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลกระทบจากการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทำให้สามารถย้อนทวนและและวิเคราะห์การทำงานได้ว่า การลงทุนที่ผ่านมาถูกทิศทางหรือไม่ นอกจากนี้การวัดและประเมินผลดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งก่อนและหลังการดำเนินการโครงการได้อีกด้วย
![](https://hotspotstation111.com/wp-content/uploads/2021/10/52090667-0886-4A3F-A1C5-A3DC32F49DE5-500x286-1.jpeg)
ในขณะที่ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. และผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สกสว. เริ่มจัดทำกรอบงบประมาณแบบ Impact -based Budgeting ประกอบการจัดสรรงบประมาณตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566 – 2570 โดยการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้าน ววน. เป็นส่วนหนึ่งในการให้น้ำหนักสำหรับการจัดทำกรอบงบประมาณรายแผนงาน รวมถึงจำเป็นสำหรับการจัดทำคำของบประมาณด้านการวิจัยแบบทุนอุดหนุนต่อเนื่อง (Multi-year) ระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งมุ่งหวังให้การดำเนินโครงการมีผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่ชัดเจน
![](https://www.education4plus.com/wp-content/uploads/2021/10/ACEB47F1-7100-48CC-A6D1-CB9C5D3DB73C-500x293.jpeg)
ต่อมาการจัดการประชุมวิชาการมีการบรรยายจาก Keynote Speaker ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
การประเมินผลตอบแทนทางสังคม หรือ SROI ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. อารี วิบูลย์พงศ์
รองศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา ประณีตวตกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา และอาจารย์เศรษฐภูมิ บัวทอง ร่วมให้แนวคิด ข้อมูล ความรู้ และแนวทางการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 625 คนจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ
![](https://www.education4plus.com/wp-content/uploads/2021/10/35329CD1-B615-43A0-BF5F-FE4452D4DC23-500x275.jpeg)
![](https://hotspotstation111.com/wp-content/uploads/2021/10/1633688246370_600x400.jpg)
เนื้อหาการบรรยายโดยสรุปพบว่า จุดเด่นของแนวทางการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) คือ การเป็นเครื่องมือที่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางสำหรับการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย สามารถให้ตัวเลขที่สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจให้ทุนวิจัยได้ รวมถึงการออกแบบแผนงานวิจัยและโครงการวิจัยที่เชื่อมโยงผลกระทบปลายทางมาสู่กิจกรรมการวิจัยและการพัฒนาที่จะสามารถสร้างผลกระทบเหล่านั้นให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน การประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ก็ยังคงมีจุดอ่อนในหลาย ๆ ด้าน กล่าวคือไม่มีสูตรสำเร็จในการประเมิน จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบท และตัวเลขผลการประเมินที่ออกมานั้นควรต้องนำไปประกอบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ก่อนการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมผู้ประเมินให้มีทักษะความชำนาญในการใช้เครื่องมือนี้ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเชื่อว่าสามารถเป็นไปได้ด้วยการสะสมประสบการณ์รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเครือข่ายของผู้ประเมิน
นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของการจัดงานการประชุมวิชาการ ยังมีการนำเสนอบทความด้านการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย ด้วยเทคนิค SROI โดยแบ่งออกเป็น 3 ห้อง คือ
ห้องที่ 1 SROI for All นำเสนอผลการประเมินโครงการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดการขยะและของเสีย การพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการเสนอค่าตัวแทนทางการเงินเพื่อคำนวณมูลค่าของชีวิต
ห้องที่ 2 SROI on Advanced Technologies นำเสนอผลการประเมินโครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการพัฒนาเมือง Startups และ SMEs รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในด้านการเกษตร การแพทย์และโลจิสติกส์ การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า รวมถึงการวิจัยด้านการแพทย์และชีววัตถุ
ห้องที่ 3 Community-based SROI นำเสนอผลการประเมินโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเข้าถึงประชาชนทุกวัย เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความร่วมมืออย่างบูรณาการในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ
ในลำดับสุดท้ายของการประชุมวิชาการ
![](https://hotspotstation111.com/wp-content/uploads/2021/10/9EA0ED94-01F7-4FC8-BDC6-244B8E0B0245-500x282-1.jpeg)
รศ.ดร.คมสัน สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ ด้านการวิเคราะห์แผนและงบประมาณ ได้สรุปผลการถอดบทเรียนของการประชุมวิชาการครั้งนี้ รวมถึงได้กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาศาสตร์ด้านการประเมิน ซึ่งสามารถสรุปเนื้อหาที่เห็นพ้องกันจากนักวิชาการ วิธีการประเมินแบบ Triple S ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประเมินทำงานได้ง่ายขึ้นในการประเมินด้วยเทคนิค SROI ตัวเลขที่สามารถใช้อ้างอิงผลการคำนวณ SROI และสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาเชิงวิชาการต่อไปในอนาคต พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้ร่วมการประชุมได้ใช้การประเมินผลงานวิจัยด้วยเทคนิค SROI เป็นโอกาสในการแสดงออกซึ่งคุณค่าของผลงานวิจัยที่ได้คิดและได้ทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้าน ววน. มีความคุ้มค่าและสามารถนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับประเทศชาติและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้จริง อันจะทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำไปสู่การปูพื้นฐานของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้กลายเป็นสังคมอุดมปัญญาเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยสืบไป