เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ณ เวที Hinglight Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้และการจัดเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยร่วมกันเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์ ระหว่าง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กับ ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) องค์กามหาชน หรือ OKMD โดยมีนายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นพยาน ร่วมกับ ดร.อภิชาติ ประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) องค์การมหาชน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า ในนามของ วช.ซึ่งอยู่ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.)(องค์การมหาชน) หรือ OKMD ซึ่งนับเป็นความร่วมมือสำคัญที่เห็นภาพในรูปแบบการพัฒนากลไกลการเข้าถึงข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการมีเครือข่ายที่จะใช้ชุดข้อมูลความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และเรายังต้องการกลไกลและรูปแบบการเข้าถึง การทำงานที่สะดวกต่อการเข้าถึงเรื่องการเรียนรู้ และสิ่งสำคัญคือกลุ่มเป้าหมายก่อเกิดการพัฒนาอาชีพภาคประชาชน รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อว่า วช.ในฐานะเป็นหน่วยงานหลัก ในการบริหารด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมมีภารกิจอีกหลายส่วนที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งเรื่องการพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้ การจัดทำฐานข้อมูลการพัฒนาองค์ความรู้และดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่มขับเคลื่อนและประสานงาน ดำเนินโครงการการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคล หรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม และมุ่งหวังแป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิต ระดับพื้นที่ชุมชน สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม วช.จึงพร้อมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยการยกระดับ ผ่านกลไกรูปการจัดการความรู้การวิจัยในรูปแบบต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง คัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้การวิจัย มาเข้าสู่ระบบการจัดหมวดหมู่ในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น มีความน่าสนใจ หลังจากนี้จะเห็นภาพของการมีสื่อที่ทันสมัย เข้าถึงภาคประชาชนได้ง่ายขึ้น และเห็นภาพการทำงานของนักวิจัยที่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ได้ใช้ประโยชน์มากขี้น ขอขอบคุณ สบร.เป็นอย่างยิ่งที่เห็นความสำคัญในความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ด้านดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) องค์กามหาชน กล่าวว่า ในนามของสบร.หรือ OKMD เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทภารกิจหลักในด้านการบริหาร และจัดการองค์ความรู้ให้มีความสมบูรณ์ หลากหลาย อีกทั้งยังมีหน้าที่จัดระบบการเรียนรู้ไปสู่สาธารณะในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ OKMDยังมีหน่วยงานหลักอย่างเช่น ห้องสมุด ทีเค ปาร์ค(TK Park) หรืออุทยานการเรียนรู้ ,ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ ทีซีดีซี(TCDC) ที่ทำในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงมีเครือข่าย ทีเค ปาร์ค อีกจำนวน 26 แห่งทั่วประเทศ ยังมีร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศในการทำแหล่งเรียนรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ และยังมีหน่วยย่อย ศูนย์ความรู้กินได้ คือการเอาความรู้ต่างๆมาย่อยให้ประชาชนได้เข้าถึงและเข้าใจง่ายซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศเช่นกัน ในแง่เครือข่ายเรายังมีความพร้อมโดยร่วมมือกับทางวช.ที่มีองค์ความรู้ไปย่อยให้ประชาชนเข้าถึงเข้าใจง่าย และเป็นเกียรติที่วช.ได้เลือก สบร.ให้มาทำงานภารกิจเรื่องนี้ ซึ่งบันทึกความร่วมมือฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้ง 2หน่วยงาน และเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีของวช.ให้ประชาชนและชุมชนสามารถนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยฯไปปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge-based economy ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป