18 มกราคม 2565 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยวันที่ 18 มกราคม 2565 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 18 มกราคม 2565 เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ระยะห่างจากโลกประมาณ 401,011 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กสุดในรอบปี เริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกมีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
อนึ่ง ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ แต่ในวันที่ 18 มกราคม 2565 เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง และอยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุดในปีนี้พอดี เราจึงเรียกว่า ไมโครฟูลมูน
ส่วนดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2565 จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ที่ระยะห่างจากโลก 357,411 กิโลเมตร วันดังกล่าวจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย