วงเสวนา จับตา ส.ส.ถกแก้กม. อิงผลประโยชน์สังคม หรือนายทุนน้ำเมา ยัน“แอลกอฮอล์” ไม่ใช่สินค้าธรรมดา อย่าทำกม.อ่อนแอ หวั่นเกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง จี้แก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดคนผลิต คนขาย หลังนอนกินกำไรบนคราบน้ำตาเหยื่อ มั่นใจ 14 ปี พรบ.คุมน้ำเมา สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ร่วมกันจัดงาน “14 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งบังคับใช้ในวันที่14 ก.พ. 2551 เป็นต้นมา โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงละครสั้นชุด “ขายไม่คิด = คร่าชีวิต” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ พร้อมทั้งจัดให้มีการเสวนา 2 ช่วง ในหัวข้อ “กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการป้องกันสังคมไทย” และหัวข้อ “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาระหรือความรับผิดชอบสังคม”
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เจตนารมรณ์สำคัญของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นเหยื่อธุรกิจน้ำเมา เดิมที่มีการยกร่างนั้นมีการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะควบคุมการโฆษณาเพราะสร้างปัญหาหลายมิติ ทั้งก่อโรคกว่า 200 ชนิด และข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าเด็กที่เข้าไปอยู่ในนั้นเกินครึ่งก่อเหตุหลังดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในร่างนั้นก็ถูกลดทอนความเข้มลงมา อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการบังคับใช้มา14 ปี ทำให้กราฟการดื่มจากที่เคยสูงชันก็ลงมาเป็นแนวระนาบ แปลว่ากฎหมายสามารถควบคุมได้ดี ระยะหลังเพิ่มขึ้นนิดหน่อยในกลุ่มเยาวชนและผู้หญิง อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวใช้มาแล้ว14 ปี อยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมาย ซึ่งมีอยู่ 3 ฉบับ โดยร่างที่ถูกบรรจุเข้าสภาวันนี้ที่บอกว่าเป็นฉบับภาคประชาชนเหมือนกันนั้น แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้วมุ่งทำลายล้างพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ตัดทอนเรื่องการควบคุมโฆษณาจนแทบจะโฆษณาได้อย่างเสรี ซึ่งจุดนี้ทุนใหญ่ได้ประโยชน์ที่สุด ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงได้ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ประธานวิปฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ว่ายังมีร่างอีก 2 ฉบับ คือของกระทรวงสาธารสุข และภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อยันเอาไว้และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความเห็นได้ในเว็บของสภาผู้แทนราษฎร
“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามให้ดี เพราะจะเป็นจุดชี้ขาด หากกฎหมายถูกทำให้อ่อนแอลง นั่นแปลว่าปัญหาของสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นแน่นอน สุรา ยาสูบ จะคิดเหมือนสินค้าทั่วไปไม่ได้ หากเสรี ขายถูกบริการดียิ่งทำร้ายสังคม ทั้งองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกก็เคยพูด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งควบคุม ยิ่งดีต่อสังคม ดังนั้นจึงต้องติดตาม ต้องคุยกับสภาผู้แทนฯ ส.ส.ทั้งหลายว่าจะแก้ไขกฎหมายเพื่อนายทุนสุรา หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงสำคัญคือทุกๆภาษีเหล้า บุหรี่ที่จ่ายให้รัฐ 1 บาท แต่รัฐต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2 บาท จากผลกระทบที่เกิดขึ้น” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ตลอด 14 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทำเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม มีการดื่ม การขายตามกรอบกฎหมายมากขึ้น เกิดสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเทศกาล หน่วยงานราชการ และช่วยลดผลกระทบต่อสังคมได้มาก ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ใช่ภาระ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และเรากลับพบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลบเลี่ยงกฎหมายใช้ตราเสมือนมาโฆษณาสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำ โซดา ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง จำเป็นต้องมีการแก้ไข ดังนั้นภาคประชาชนจึงได้เสนอร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่กระบวนการของสภาฯ และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ตนคาดหวังว่ารัฐบาล ส.ส. จะเห็นปัญหา ข้อจำกัดดังกล่าวและนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้ก้าวหน้า เพื่อคุ้มครองประชาชน และสร้างมาตรฐานความรับผิดชอบของรัฐ ธุรกิจ ผู้บริโภค ต่อสังคมโดยรวม
ด้านนางรัชฐิรัชฎ์ ชุ่นสั้น ผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า อุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับเกิดเมื่อปี 60 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย รวมถึงสามีของตน และยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย ทั้งนี้หลังเกิดเหตุกว่าที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะผ่านมาได้ยากลำบากเกินคำบรรยาย จนถึงวันนี้ก็ไม่ได้รับการเยียวยา แต่ถึงได้มาก็เทียบไม่ได้กับการสูญเสียคนที่เรารักให้กับคนที่ไร้สำนึก อีกทั้งยังได้รับการลงโทษติดคุกจริงเพียง 2 ปี ปรับ 3,400 บาท เป็นเรื่องที่บีบหัวใจมาก ดังนั้นเชื่อว่าหากทำให้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อ่อนแอลง ไม่มีการควบคุม หย่อนยาน ขาดการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นหายนะใหญ่หลวงกับคนทั้งสังคมไทย ตนไม่คิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะหมดไปจากสังคมไทย แต่จะอยู่ร่วมกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด กฎหมายอาจจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการบ้าง แต่นี่คือการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ขณะเดียวกันผู้ดื่มก็ต้องรับผิดชอบสังคมด้วยการทำตามกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายต้องยกระดับให้คนผลิตคนขายมีความรับผิดชอบมากขึ้น เอาจริงปรับจริงติดคุกจริง ไม่มีการลดโทษให้คนเมาแล้วขับ การสูญเสียมันทำร้ายจิตคนอยู่หลังให้ตายทั้งที่ยังมีลมหายใจ
ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า จากข้อมูลคนไทยกว่า 70% ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนที่ดื่มจะมีอยู่ 30 % ในจำนวนนี้มี 10 % ที่ดื่มหนัก และรู้สึกว่าข้อบังคับตามกฎหมายนี้เป็นอุปสรรค แต่คนส่วนใหญ่มองว่ากฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภาระกับธุรกิจ อุตสาหกรรมสุรา เพราะพันธกิจของธุรกิจคือการสร้างกำไร จึงต้องต่อสู้กับข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคอ้างว่ารัดแน่น หายใจไม่ออก แต่ประชาชน หรือรัฐจะปล่อยให้ธุรกิจสร้างกำไรสูงสุดทั้งที่แอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป สร้างผลกระทบทั้งสุขภาพ อาชญากรรม อุบัติเหตุทางถนน จะผ่อนผันไม่ได้
“ทุกวันนี้มีเหยื่อจำนวนมากในสังคมไทย แต่กลับไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ผลิตได้ ที่ผ่านมานอนกินกำไรเป็นหมื่นล้านบาท ขณะที่กฎหมายที่ดีในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น ตะวันตก จะเพิ่มภาระความรับผิดชอบผู้ผลิต ผู้ขาย หากสืบได้ว่าขายให้คนเมาไปทำความผิด คนขายต้องรับผิดชอบด้วย บางประเทศกำหนดให้บริษัทจ่ายส่วนชดเชยทางสังคมนอกเหนือจากการจ่ายภาษีด้วย ดังนั้นต้องทำให้กฎหมายในไทยมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องการตลาดที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น หากกฎหมาย นโยบายการควบคุมไม่แข็งแรง จะแทรกซึมไปได้ง่าย ซึ่งเริ่มเห็นแล้วแม้แต่เด็กประถม เข้าติ๊กต๊อก เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ก็เข้าถึงการเชิญชวนได้ง่ายขึ้น นี่คือสิ่งที่กฎหมายยังไปไม่ถึง จึงต้องพัฒนาให้เกิดความรับผิดชอบให้ได้” ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าว