สสส. เปิดเวที “Happy Workplace Forum 2022” จับมือภาคีเครือข่ายสร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน ชูนวัตกรรมแนวคิด ‘Happy Workplace’ ช่วยคนทำงานมีความสุข-ตอบแทนผลกำไร 7 เท่า ยกระดับสู่ต้นแบบองค์กรสุขภาวะ 10,000 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน Happy Workplace Forum 2022 : The Future of workplace well-being สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร พัฒนานวัตกรรมใหม่สำหรับการบริหารองค์กรและการดูแลบุคลากรให้มีความสุขในสถานที่ทำงานไปสู่สังคมสุขภาวะ โดยมีผู้แทนจากต้นแบบองค์กรสุขภาวะทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้าร่วมงานทั้งออนไลน์และออฟไลน์กว่า 500 คน
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลภาวะการทำงานของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี กว่า 37.7 ล้านคน ใช้ชีวิตทำงานมากกว่า 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานที่อาจต้องเป็นหลักของครอบครัวในการเตรียมตัว วางแผนรับมือกับสภาวะวิกฤต เกิดความวิตก กังวล รู้สึกไม่มั่นคงต่อการทำงาน ทำให้ไม่มีความสุข หลายองค์กรจึงจำเป็นต้องหาวิธีรักษาแรงงาน เพื่อเพิ่มความพร้อมให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ สสส. มุ่งสนับสนุนและบูรณาการเพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) ซึ่งมีแนวทางส่งเสริมสุขภาวะ 8 มิติ (Happy 8) กลุ่มเป้าหมายหลักคือ “คนทำงาน ในองค์กร” ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักในการสร้างเสริมองค์กร ครอบครัว ชุมชน และสังคมสุขภาวะ
“สสส. พัฒนาแนวคิด Happy Workplace ตั้งแต่ปี 2558 ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ผลักดันสู่การเป็นนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ส่งผลให้มีองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร กว่า 10,000 แห่ง
ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ลงทุน 1 บาท ให้ผลตอบแทนทางสังคม 7 บาท สะท้อนแรงงานไทยมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2565 สสส. มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือ องค์ความรู้ แกนนำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะในการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” ดร.ประกาศิต กล่าว
ม.ล.พัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน สังคม ค่านิยม วัฒนธรรม เทคโนโลยี รวมถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อรูปแบบวิถีชีวิตและการทำงาน ความสุขจากการทำงานและความสุขในการดำรงชีวิตประจำวันของวัยแรงงาน กลายเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้ และไม่สามารถวางขอบเขตเส้นแบ่งทางนโยบายขององค์การได้
แนวคิด Happy workplace ของ สสส. ถือเป็นการออกแบบนโยบายสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตที่ผสมผสานกันเชิงบูรณาการแบบไร้รอยต่อ (Work – Life Integration) ตามความหมายของแต่ละกลุ่มคน (Customization) หรือรายบุคคล (Personalization) ด้วยความเข้าใจ ยืดหยุ่น ตามนิยามใหม่ The Future of workplace well-being ที่สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงต่างๆ ตอบโจทย์ในการพัฒนาองค์กรให้อยู่รอด ควบคู่ไปกับการสร้างความสุขของพนักงานไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ นำโดย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส. และรองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ สสส. นายรักษ์ เจริญศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบริการธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และการดูแลเรื่องความสุขของพนักงานอีกมากมาย
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.happy8workplace.com และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Happy8 Workplace