เครือข่ายเยาวชน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี อว. จี้เอาจริงแก้ปัญหารับน้องรุนแรงซ้ำซาก ทำอนาคตชาติเสียชีวิต- บาดเจ็บ ขอทบทวนมาตรการสู่การรับเพื่อนใหม่สร้างสรรค์ เท่าเทียม ลบภาพเสือกระดาษ พร้อมวิงวอนประชาชน นักศึกษา ช่วยกันเฝ้าระวังแจ้งเหตุก่อนบานปลาย
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กลุ่ม ANTI SOTUS และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กว่า 20 คนเดินทางไปยื่นหนังสือถึง ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเรียกร้องให้มีการรับเพื่อนใหม่ของสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์ หลังเกิดเหตุนักศึกษาปริญญาวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 1 สาขาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เสียชีวิตจากการถูกกลุ่มรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายยังได้ร่วมกันวางดอกไม้และอ่านกวีไว้อาลัยความสูญเสีย พร้อมชูป้ายข้อความสะท้อนความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการรับน้อง อาทิ “รับน้องรุนแรง ไม่สร้างสรรค์ = สูญเสีย”… “เมื่อไหร่ อ.ว.จะจัดการ ปัญหารับน้องรุนแรง”… “รับน้องปลอดภัย ปราศจากความรุนแรงและอบายมุข”
ทั้งนี้ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. และรศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงอว. เป็นผู้แทนมารับหนังสือ
นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์สลดกรณีนายพัสยศ ชลภักดี หรือน้องเปรม อายุ 19 ปี นักศึกษา ปวส. ปีที่ 1 สาขาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เสียชีวิตจากการถูกกลุ่มรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายในกิจกรรมรับน้องใหม่ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมาในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทางเครือข่ายได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากแทบทุกสถาบัน ทุกฤดูกาลที่มีการรับน้องก็จะพบข่าวการสูญเสียออกมาเสมอ หรือมีลักษณะการรับน้องด้วยความรุนแรงทั้งทางร่างกาย วาจา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับปัญญาชน อนาคตของชาติ แต่พอเกิดเหตุครั้งหนึ่งก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาพูดถึงปัญหา แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน คำกล่าวที่อยากให้ความสูญเสียครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย มันไม่เคยเป็นจริงได้เลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าระบบการกำกับดูแลยังมีช่องว่างอยู่มาก มาตรการวัวหายล้อมคอกที่ทำกัน หลังเกิดปัญหามันเอาไม่อยู่
“จากการกระทำของรุ่นพี่ดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันบังคับข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี หรือปรับอีกไม่เกิน 6,000 บาท ตาม ป.อาญา มาตรา 309
ทั้งนี้หากผู้ลงมือกระทำเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำอาจต้องรับโทษสูงสุด จำคุก 15 ปี ตาม ป.อาญา มาตรา 310, 290 291 อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทางมูลนิธิยินดีให้ความช่วยเหลือในทางคดีกับครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มที่ และขอให้น้องๆนักศึกษาที่ถูกกระทำไม่ว่าจะสถาบันใดก็ตาม อย่ายอมจำนนกับความไม่ถูกต้องดังกล่าว มูลนิธิฯและเครือข่ายพร้อมให้ความช่วยเหลือ ขอให้ประสานมา” นายอธิวัฒน์ กล่าว
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหารับน้องรุนแรงแบบนี้มันซุกอยู่ใต้พรมมานาน ทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็ปากว่าตาขยิบ หลายแห่งที่จัดทำโครงการนอกสถานที่ ใช้งบประมาณกิจกรรมนักศึกษามาบังหน้า แต่ก็แฝงไปด้วยการรับน้องที่รุนแรงมึนเมาขาดสติ หรือที่แอบจัดกิจกรรมกันเองโดยไม่ต้องใช้โครงการ นัดกันไปตามสถานที่ต่างๆแล้วก็ชวนรุ่นพี่มาจัดการกับรุ่นน้องด้วยความรุนแรงทั้งวาจาและทำร้ายร่างกาย กรอกเหล้า เสพยา ชกต่อยเตะ จับโยน สารพัดวิธีที่อ้างว่าทำไปเพื่อความรักสถาบันรักพี่น้อง ซึ่งทั้งหมดเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ความรุนแรงทุกรูปแบบมันควรจบสิ้นไปได้แล้ว การเคารพให้เกียรติกันทั้งเนื้อตัวร่างกาย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างหากคือสิ่งที่ต้องปลูกฝังกัน ไม่ใช่พฤติกรรมล้าหลังเช่นนั้น
“เครือข่ายฯ ขอเรียกร้อง อว.ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความสูญเสียที่เกิดจากการรับน้อง ดังนี้ 1. ขอให้เร่งตรวจสอบสถานศึกษาแห่งนี้ ว่ามีการปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในครั้งนี้หรือไม่ และการติดตามให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียเหมาะสมหรือไม่ ตลอดจนควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่ก่อเหตุทั้งในทางกฎหมายและวินัยนักศึกษา เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก 2. ขอให้ทบทวนมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และกิจกรรมอื่นๆในสถาบันการศึกษา ให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่มีเพียงประกาศที่เป็นเหมือนเสือกระดาษเพราะไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยควรปรับให้เป็นกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ ที่ลดทอนการใช้อำนาจลง ส่งเสริมความเท่าเทียม ห้ามใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิทุกรูปแบบ 3. ขอให้มีรูปธรรมในการปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิ เนื้อตัวร่างกาย ความเท่าเทียม ให้เกียรติกัน และส่งเสริมให้จัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ปลอดภัยปลอดอบายมุข และ 4. ขอเรียกร้องต่อพี่น้องประชาชน ผู้ปกครอง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่ส่อไปในทางความรุนแรง ละเมิดสิทธิ ด้วยการแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถาบันการศึกษา ฝ่ายปกครอง เพื่อเข้าระงับเหตุก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย” นายธีรภัทร์ กล่าว
///////