สคล. ห่วงนทท.แห่สาดน้ำสงกรานต์ถนนข้าวสารเสี่ยงติดเชื้อโควิด ชี้คุมได้ยาก แนะผู้จัดงานเพิ่มประชาสัมพันธ์ไทย-เทศ พร้อมจัดหาหน้ากากกันน้ำให้ เตือนให้คิดโอกาสดีเปลี่ยนโหมดสงกรานต์เน้นประเพณีวัฒนธรรมเป็นหลัก งานรื่นเริงเป็นรอง
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงกรณีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นจุดแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่า เรื่องนี้ก็เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ว่าจะควบคุมไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เครือข่ายงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ผลักดันในหลายคณะกรรมการ เพราะรู้ว่าเวลาเล่นสาดน้ำแล้ว หน้ากากอนามัยเปียกชื้นทำให้ไม่สามารถหายใจได้อย่างสะดวก จึงเสนอมาตรการให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานจะต้องรับผิดชอบด้วยการจัดหาหน้ากากกันน้ำแจกให้ผู้ร่วมงาน ตอนนี้ก็ต้องทำในโหมดนี้แล้ว เพราะไม่สามารถดูแลควบคุมได้ ซึ่งดูจากไลฟ์สดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ประมาณ 23.00 น. ก็ยังไม่เลิกกิจกรรม และกว่า 70% ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถึงสวมหน้ากากอนามัยก็เปียกน้ำอยู่แล้ว
ดังนั้นผู้ประกอบการ ไกด์ โรงแรมที่พัก ต้องช่วยกันเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจมากขึ้นทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ส่วนตัวก็พอเข้าใจ เพราะก็ตั้งใจมาเที่ยวอยู่แล้ว วันนี้ (14 เมษายน) หน่วยงานที่ทำเรื่องนี้คงคาดการณ์ได้ว่าวันนี้น่าจะมีกิจกรรมอีกแน่ๆ ส่วนเรื่องทางด้านสาธารณสุข นั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมแล้ว เพราะจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าผู้ร่วมงานไม่ว่าจะเป็นคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติไปที่ไหนมาบ้าง แต่อย่าเน้นเรื่องบันเทิงมากจนเป็นปัญหาระยะยาว
ส่วนคนที่ยังเซฟตัวเองดีอยู่นั้นคงต้องเน้นย้ำเรื่อง S M S คือ Small Meaningful Safety ไปในพื้นที่ที่ไม่แออัด ไปพื้นที่เล็กๆ ทำในสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย เช่น สรงน้ำพระ กิจกรรมในครอบครัว การท่องเที่ยวชุมชนแถวละแวกบ้าน ทำให้สงกรานต์เป็นโหมดประเพณีวัฒนธรรม เพราะในมุมคนทำงานมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยน จากที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องความสนุก ความรื่นเริง แต่หากสังคมช่วยกันทำเอาประเพณีเป็นตัวตั้ง แล้วให้วัฒนธรรมเป็นตัวเด่น มีคุณค่า มีความหมาย ให้โหมดเมืองหันมาทางนี้ ซึ่งมีหลายพื้นที่สามารถทำได้ เช่น ที่จังหวัดจันทบุรี เน้นการสื่อสารถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับการกวนข้าวทิพย์ จังหวัดขอนแก่น เน้นเข้าวัด มีประเพณีตบพระทาย หรือประเพณีก่อเจดีย์ทราย ปลุกกระแสสาดน้ำ ประแป้งผ่านแอพพลิเคชั่น ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ มีบางจุดราวๆ 100 เมตร ย่านประตูท่าแพ ที่มีโรงแรมทำอุโมงค์น้ำ และมีพื้นที่นั่งดื่ม แต่นักท่องเที่ยวอาจจะมีอารมณ์ต่อเนื่อง คิดว่ามีการเล่นน้ำบ้าง
“ตอนนี้สังคมน่าจะต้องคิดถึงโหมดของเมือง อย่างที่หลวงพระบางเช้ายันเย็น เป็นโหมดของการสาดน้ำ ตกเย็นก็เป็นโหมดกิจกรรมเข้าวัด เปิดเมืองสรงน้ำพระ ของเราก็เหมือนกันไม่ใช่ไปในทางรื่นเริงทั้งหมด ควรหาวิธีเปลี่ยนฟังก์ชั่นเมือง อย่างที่ขอนแก่น กิจกรรมก่อพระทาย เป็นเหมือนกิจกรรมที่คนรุ่นเก่าทำ หรือจันทบุรีมีการก่อเจดีย์ทรายตอนบ่ายแก่ๆ ตกเย็นก็มาจุดเทียนกับเจดีย์ทราย วัยรุ่นก็จะเข้ามาทำกิจกรรม เราต้องดูวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยน เด็ก เยาวชนเริ่มออกจากบ้าน 4-5 โมงเย็น ดังนั้นจะมีกิจกรรมอะไรรองรับน้องๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์”นายวิษณุ กล่าว.