อพท. ผนึก 12 ภาคีเครือข่ายดัน “พัทยา” สู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก วางโรดแมปพัฒนาสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์
อพท. ผนึก 12 องค์กร โชว์ความพร้อมเมืองพัทยา หนุนขึ้นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของยูเนสโก และศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สร้างเป็นจุดขายใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความพร้อมหลายมิติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี การเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ที่หลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สู่การขยายฐานสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า วันนี้ (31 พฤษภาคม 2565) อพท. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการ “ขับเคลื่อนเมืองพัทยาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ของยูเนสโก และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยร่วมกับ 12 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมืองพัทยา กรมการท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย และสมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทยเป้าหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนภารกิจเมืองพัทยาสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ของยูเนสโกและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ภายใต้ความร่วมมือดำเนินงานในระยะ 5 ปี
ปัจจุบัน อพท. ได้ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในระดับหน่วยงานในพื้นที่สำหรับเป็นกรอบในการพัฒนา โดยการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยพื้นที่เมืองพัทยามีองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและบริบทของเมือง เพราะมีทุนทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยว ประกอบกับเป็นจุดหมายปลายทางที่มีชื่อเสียงระดับสากล สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกองถ่ายทำภาพยนตร์ของไทย โดยศักยภาพของเมืองพัทยาพร้อมให้บริการและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงฉบับ พ.ศ. 2566 – 2570 ในพื้นที่เมืองพัทยา เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเมืองพัทยา สู่การเป็นเมืองภาพยนตร์ในระยะ 5 ปี (2565 – 2570) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ (City of Film) โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเมืองพัทยาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และศักยภาพการเป็นเมืองท่องเที่ยวให้สูงขึ้น
สำหรับการยกระดับเมืองในพื้นที่ต่างทั่วประเทศเข้าสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก 5 แห่ง ได้แก่ 1) จังหวัดภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร 2) จังหวัดเชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและพื้นบ้าน 3) กรุงเทพมหานครฯ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ 4) จังหวัดสุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ 5) จังหวัดเพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร โดยจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดเพชรบุรี คือเมืองที่ อพท. เข้าไปผลักดันจนเป็นผลสำเร็จได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์
และในปีนี้ อพท. อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี จังหวัดน่านให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรม และเมืองพัทยาเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ ซึ่งทางยูเนสโกมีหลักเกณฑ์พิจารณาว่า เมืองที่จะได้รับการรับรองต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านนั้น ๆ อย่างชัดเจน