องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ร่วมจัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ เรื่อง “เส้นทางสู่การยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย ครั้งที่ 2” ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอทิศทางของตลาดน้ำมันปาล์มยั่งยืนและโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ หนทางสู่การยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกัน” (Shared Responsibility) ตลอดจนรวบรวมความเห็นต่อการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรปาล์มน้ำมันยั่งยืนแห่งประเทศไทย(Thailand Sustainable Palm Oil Alliance) ในงานนี้มีผู้ขับเคลื่อนระดับนโยบายและตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โรงสกัด โรงกลั่น ผู้ผลิตแปรรูป ผู้ค้าส่งออกน้ำมันปาล์ม เข้าร่วมกิจกรรม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับสามของโลก การพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ได้การรับรองน้ำมันปาล์มยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 40 ของความต้องการน้ำมันที่ผลิตจากพืชทั่วโลก และเป็นพืชที่มีการใช้พื้นที่การผลิตเพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่การผลิตน้ำมันพืชทั้งหมด จึงทำให้น้ำมันปาล์มมีประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 9.8 พันล้านคนในปีพ.ศ.2593
ทั้งนี้ ร้อยละ 70 ของผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทยเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยซึ่งยังขาดการเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม และการบริหารต้นทุนในการจัดการสวนปาล์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงยังขาดโอกาสเข้าถึงการรับรองมาตรฐานของ RSPO และการเชื่อมโยงกับตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรร่วมกับ GIZ จัดทำโครงการการผลิตปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ในปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 19 แห่ง ซึ่งสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยกว่า 3,000 ราย และมีวิทยากรเกษตรกรจำนวนกว่า 200 รายที่ได้รับการฝึกอบรมจากโครงการและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2564 มีเกษตรกรจำนวนกว่า 400 รายภายใต้โครงการ SCPOPP ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO และได้เชื่อมโยงกับตลาดโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกร้อยละ 20-40 และอีกกว่า 1,500 รายคาดว่าจะได้รับการรับรองภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 นี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “ถึงเวลายกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืนในประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทย ได้บรรจุแผนการพัฒนาเรื่องของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อยู่ภายใต้แผนปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปีพ.ศ. 2560 – 2579 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย กระทรวงเกษตรฯ ต้องขับเคลื่อนให้บรรลุแผนดังกล่าว จึงมีการกำหนดเป้าหมายสำคัญไว้ คือ ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากปัจจุบัน การเพิ่มประสิทธิภาพปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ให้ได้อัตราการสกัดน้ำมันร้อยละ 22-23 เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต ตลอดจนการรักษาระดับการส่งออกน้ำมันปาล์มให้อยู่ระดับ 3-7 แสนตันต่อปี
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ส่วนงานถัดมาของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกับงานของ RSPO คือ การยกระดับมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนั้น เดินมาถึงจุดสำคัญมาก ก็คือเรื่อง มาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้ออกประกาศ กำหนดมาตรฐานเรื่องสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน รวม 4 ฉบับ
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ภายใต้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่มีความผันผวนไม่อาจคาดเดา นับเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ทบทวนและมาแชร์เป้าหมายร่วมกันในก้าวเดินสู่อนาคตและไม่มีก้าวเดินอะไรที่แน่นอนภายใดสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ดีที่สุดเท่ากับก้าวเดินบนความยั่งยืน ดังนั้นโอกาสของความเป็นไปได้ในการการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance) จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมาก “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยินดีสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศไทยไปสู่การดำเนินการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เพื่อเชื่อมกับสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย ภายใต้การจัดตั้งของกระทรวงเกษตรฯ ยุคนี้ ซึ่งได้เดินหน้าบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดังนั้นขอให้ความมั่นใจว่า เราพร้อมที่จะให้การสนับสนุน พร้อมให้ความร่วมมือ และเดินไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ภายใต้ความร่วมมือกับหลักการของ RSPO จากวันนี้สู่อนาคตที่ดีกว่า” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายโจเซฟ เดอ ครูซ ประธานบริหารของ RSPO กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ไทยถือเป็นประเทศอยู่ในตำแหน่งพิเศษ ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ ในฐานะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยศักยภาพการขับเคลื่อนของเกษตรกรรายย่อยในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม RSPO ตระหนักดีว่า เกษตรกรรายย่อย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืน ให้เป็นบรรทัดฐานตามวิสัยทัศน์ของ RSPO ได้จริง เพราะการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างผลผลิตที่ยั่งยืน จะส่งผลดีต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก โดย RSPO มองว่าความรับผิดชอบร่วมกันของ “ผู้เล่น”ทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิต จะต้องให้คำมั่นในการสนับสนุนกันและกัน
ขณะที่ นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ความมั่นคงทางอาหารนับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากวิถีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแบบเดิม ยังขาดการคำถึงการผลิตอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และขาดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศไทย จะไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในการทำลายป่าและละเมิดสิทธิแรงงานและชุมชน แต่ความท้าทายหลักของไทยอยู่ที่ข้อจำกัดของเกษตรกรรายย่อยที่ยังขาดการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะอุดช่องว่างนี้ คือ การขยายความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อน้ำมันปาล์มและเกษตรกรรายย่อยชาวสวนปาล์มผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกัน” และการเพิ่มศักยภาพเพื่อเข้าถึงการรับรองมาตรฐานของ RSPO ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยให้เข้าถึงตลาดโลก ทั้งอีกยังช่วยให้เกิดความมั่นคงของแหล่งอาหารและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน มีน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองจาก RSPO ร้อยละ 19.3 (14.8 ล้านตัน) ของจำนวนน้ำมันปาล์มที่ผลิตทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่น้ำมันปาล์มได้รับการรับรองจากมาตรฐาน RSPO ในประเทศไทยเพียงร้อยละ 2.8 ของการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศทั้งหมดเท่านั้น “ที่ผ่านมา GIZ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทยตามมาตรฐานของ RSPO และได้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยของไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Thailand Oil Palm Smallholder Academy:TOPSA) โดยมีการนำเอาเนื้อหาจาก RSPO Smallholder Training Academy (STA) มาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 ราย
“วิทยากรเกษตรกรถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเละพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นโครงการจึงมีความยินดีที่จะเรียนเชิญองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยมาร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดศักยภาพของอุตสาหกรกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยไปด้วยกัน” นายไรน์โฮลด์ กล่าว
ประธานบริหารของ RSPO กล่าวทิ้งท้ายว่า “RSPO ได้นำ “มาตรฐานสำหรับเกษตรกรรายย่อย” มาใช้เพื่อการรับรองเมื่อพ.ศ. 2562 ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองด้วยขั้นตอนที่ง่ายยิ่งขึ้น แต่ยังยึดมั่นข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญของความยั่งยืน แม้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก เราพบสัญญาณที่ดีว่า มีเกษตรกรรายย่อยหลายกลุ่มได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้จำนวนไม่น้อย”
ข้อมูล RSPO ประเทศไทย
ณ พฤษภาคม 2565 RSPO ในประเทศไทยมีสมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ จำนวน 63 กลุ่ม โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO มีจำนวน 19 กลุ่ม 5,400 คน มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรอง 170,591.81ไร่* คิดเป็นร้อยละ 2.8 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการตรวจรับรองอีก 34 กลุ่ม 1,386 คน 27,766.83 ไร่ ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีพ.ศ.2565 ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO จำนวน 279,406.81 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.58 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีสมาชิก RSPO ที่เป็นผู้ผลิตกลางน้ำ ผู้ผลิตสินค้าบริโภค (Consumer Goods Manufactures) อีก 11 บริษัท ผู้ค้า ผู้ผลิตแปรรูป (Processors and Traders) 32 บริษัท ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์มรายย่อย (Supply Chain Associated) 39 บริษัทและบริษัทเกี่ยวข้องอีก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 146 แห่ง
* ยอดรวมพื้นที่ปลูกของเกษตรกรรายย่อย และโรงสกัดที่มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565
เกี่ยวกับ RSPO
องค์กรเจรจาระหว่างประเทศด้านปาล์มน้ำมันยั่งยืน หรือ The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกและการใช้ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันยั่งยืนที่ได้รับมาตรฐานสากลที่น่าเชื่อ ถือ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน RSPO เป็นองค์การระหว่างที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีโครงสร้างสมาชิกที่ประกอบด้วยหลายส่วนในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อาทิ ผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปหรือผู้ค้าน้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตแปรรูปสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคารและนักลงทุน องค์การพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสังคมหรือด้านการพัฒนาตัวแทนจากหลายภาคส่วนนี้จะเป็นกระจกสะท้อนในโครงการสร้างบริหารของ RSPO เช่น ตัวแทนในคณะกรรมการบริหารใหญ่ คณะกรรมการบริหารและคณะทำงานจะมีการคัดสรรจากแต่ละภาคส่วนในรูปแบบเดียวกัน RSPO ยึดหลักปรัชญาของ “โต๊ะกลม” ที่ให้ตัวแทนของแต่ละภาคส่วนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยเอื้ออำนวยให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นฉันทามติ และบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันในการทำให้น้ำมันปาล์มยั่งยืนถือเป็นปฏิบัติมาตรฐาน
ที่ตั้งขององค์กรอยู่ที่ซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สำนักงานเลขานุการ ปัจจุบันอยู่ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และมีสำนักงานอยู่ที่จาการ์ต้า (อินโดนีเซีย) ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ซูเทอร์เมร์ (เนเธอร์แลนด์) และโบโกต้า (โคลัมเบีย)
เกี่ยวกับ GIZ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 24,000 คน