กรุงศรีจัดสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ Krungsri Business Talk “โอกาสและความท้าทายใหม่ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน”

กรุงศรีจัดงานสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ Krungsri Business Talk “โอกาสและความท้าทายใหม่ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน” แนะ SME ให้ความสำคัญด้าน ESG สร้างข้อได้เปรียบการแข่งขันและลดความเสี่ยงธุรกิจ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) จัดงานสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk  ภายใต้หัวข้อ โอกาสและความท้าทายใหม่ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน  (Driving Business Sustainability with ESG) เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา งานนี้จัดขึ้นเพื่อลูกค้าธุรกิจของกรุงศรีรวมถึงผู้ประกอบการที่สนใจ โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้ กรุงศรีได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรมาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้าน ESG (Environment, Social, และ Governance) ที่เป็นประโยชน์ต่อ SME เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ช่วยฝ่าวิกฤติให้กลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานและต้อนรับวิทยากร

นายพูนสิทธ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในวิทยากรที่ร่วมแบ่งปันมุมมอง กล่าวถึงความสำคัญของ ESG ที่มีต่อธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ถือเป็นหนึ่งในทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ที่จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันและช่วยพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน รวมถึงเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ในโลกยุคใหม่ที่ทั้งผู้บริโภค สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญและคาดหวังต่อธุรกิจ อีกทั้งการเตรียมองค์กรเพื่อพร้อมรับความเสี่ยงของโลกที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในอนาคต  นอกจากนี้ภาคธนาคารได้มีการส่งเสริมสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับ ESG ให้กับองค์กรธุรกิจในทุกระดับ ไม่ว่าเป็นตราสารหนี้ประเภท ESG Bond การระดมทุนผ่านกองทุนยั่งยืน ESG Fund  สินเชื่อพิเศษที่สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับ ESG เช่น สินเชื่อโซล่ารูฟสำหรับธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ช่วยลดเอกสารและการเดินทางอันเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ได้กล่าวถึงแนวคิดการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจยุคใหม่ด้วยแนวคิด Resilience โดยแนะนำว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในอนาคต องค์กรต้องมองมากกว่าความยั่งยืน (Sustainability) ที่เน้นเรื่องการสร้างความสมดุล สู่แนวคิดแบบยืดหยุ่น หรือ Resilience ที่เน้นเรื่องการทำอย่างไรที่องค์กรจะต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สิ้นสุดและยากที่จะคาดเดา โดยมีความสามารถในการ Bounce Back นั่นคือ ลุกขึ้นได้เร็วและกลับมาดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรจะต้องเตรียมรับมือจะเกิดจากปัญหาและวิกฤตใน 3 ด้าน ได้แก่ ภัยพิบัติจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (Nature & Environment) ปัญหาด้านความเป็นอยู่และโครงสร้างสาธารณูปโภค (Living & Infrastructure) ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ (Society & Economy) ทั้งนี้องค์กรควรเลือกพิจารณาจากปัญหาย่อยในแต่ละด้านที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของตนก่อน และนำนวัตกรรมมาช่วยจัดการกับปัญหาต่างๆเหล่านั้น

อาจารย์อภิทาน ลี รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (REDEK) อีกหนึ่งในวิทยากร ได้กล่าวถึงการนำแนวคิด Innovation Culture นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน สร้างองค์กรที่มีนวัตกรรมที่เรียบง่ายและยั่งยืนแบบฉบับ SME โดยก้าวแรกของการสร้างนวัตกรรมจะถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆขององค์กร (Pain Points) โดย ESG เป็นหนึ่งในปัญหาที่ขององค์กรสามารถแก้ไขได้ด้วยรูปแบบ Business Innovation ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ธุรกิจสามารถสร้างนวัตกรรมในส่วนขั้นตอนการทำงาน (Process) การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Experience) เพื่อตอบโจทย์ ESG ได้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งในส่วนอื่นๆขององค์กรอีกด้วย  ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม จำเป็นที่องค์กรจะต้องมี Innovation Culture ที่เกิดจากการสร้างโดยผู้นำองค์กรที่พร้อมจะรับฟังอย่างแท้จริง นำแนวคิดไปพัฒนาเป็นรูปธรรม และกล้าที่จะผิดพลาด  ทั้งนี้การสร้างนวัตกรรมที่มุ่งตอบโจทย์ ESG สามารถเริ่มต้นโดยพิจารณาอย่างน้อยหนึ่งในสามปัจจัยนี้ก่อน คือ ผู้คน (People) โดยมองว่าเราทำสิ่งดีต่อสังคมได้อย่างไร  โลก (Planet) โดยมองว่าเราสร้างสิ่งดีหรือส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดได้อย่างไร กำไร (Profit) โดยมองว่าเรามีการค้าขายอย่างเป็นธรรมหรือไม่

จากพันธกิจของธนาคารในการให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเพื่อสังคมและความยั่งยืนควบคู่ไปกับการสนับสนุนลูกค้าให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการลงทุนและการปรับโครงสร้างการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรุงศรีมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ พร้อมสนับสนุนลูกค้าของธนาคารให้สามารถก้าวผ่านสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยธนาคารได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันข้อมูลและโอกาสธุรกิจให้กับลูกค้า ในรูปแบบกิจกรรมสัมมนาต่างๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยผู้ประกอบการธุรกิจสามารถรับชมคลิปสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3xLmbQt

เกี่ยวกับกรุงศรี

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในหกสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 77 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อรายย่อย การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 634 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 595 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 39 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 33,713 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 9.7 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)) อีกด้วย

กรุงศรีมีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

เกี่ยวกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG)

มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี MUFG มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,500 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานกว่า 170,000 คน MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงก์กิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ MUFG มีเป้าหมายที่จะเป็น “กลุ่มสถาบันทางการเงินที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก” ด้วยการผสานศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าโดยคำนึงถึงสังคมและการแบ่งปัน สู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน  MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MUFG กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.mufg.jp/english

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.