สคล.จับมือคณะสงฆ์ เดินหน้าปรับประเพณี “บวชสร้างสุข” เน้นเรียบง่าย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระธรรมวินัย สกัดเมาฆ่ากันตายในงานบวช หลังพบข้อมูลดับกว่า 30 ศพ ได้บาปตั้งแต่ยังไปไม่ถึงวัด ด้าน “พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม” เปิดรับเจ้าภาพหนุนบวชสร้างสุขต้นแบบ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือขายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า สคล. ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม พยายามที่จะรณรงค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานบวชในปัจจุบัน ให้หันมาเน้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อศึกษาแก่นแท้ของศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยการจัดทำโครงการบวชสร้างสุข โดยไม่มีขบวนแห่ยิ่งใหญ่ คงไว้เฉพาะขบวนแห่ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หมู่บ้าน ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จะเน้นรูปแบบเป็นการจัดพิธีบวชอย่างเรียบง่าย
มีเพียงพิธีขอขมาลาโทษ มีพระเทศสอนที่บ้าน หรือวัด จำลองขบวนแห่เล็กๆ พ่อถือบาตร แม่ถือไตรจีวร ตามประเพณีนิยม เป็นต้น โดยในช่วงปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา จัดทำโครงการนำร่อง 9 จังหวัด ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะงานบวชค่านิยมทางสังคมได้ก้าวไปไกลมากเลยกรอบพระธรรมวินัย โดยจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมด้วยมหรสพ รถแห่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน ทำให้การบวชปัจจุบันกลายเป็นงานที่จะบ่งบอกถึงฐานะของผู้จัด แล้วสร้างมายาคติว่าการบวชแบบเรียบง่ายตามธรรมวินัยนั้นเป็นการจัดงานของคนจน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย การบวชควรที่จะยึดแก่นแท้ตามพระธรรมวินัยของศาสนามากกว่า
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การรณรงค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบวชนั้น แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ นโยบายเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มหาเถรสมาคม รวมถึงนโยบายของนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ดังนั้น การณรงค์ในปีนี้ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมครอบคลุม 4 ภาค โดยเฉพาะที่ผ่านมาก่อนสงกรานต์ถึงปัจจุบันมีเจ้าภาพต้นแบบที่จัดงานบวชยึดหลักพระธรรมวินัย เลี่ยงค่านิยมทางสังคมโดยไปจัดงานที่วัดแบบเรียบง่าย ด้วยการแนะนำเชิญชวนของพระสงฆ์มากกว่า100 งานแล้ว พระท่านจะมอบเกียรติบัตรเชิดชูยกย่องเจ้าภาพต้นแบบนั้นๆ ส่วนแนวทางต่อไปจะต้องมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ในวงกว้าง เอาจริงในการบวชพระให้เป็นไปตามธรรมวินัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลา ต้องอาศัยการดำเนินการ และขับเคลื่อนอย่างหนักแน่นจริงจังต่อเนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายพระสงฆ์
“เรามีการเก็บข้อมูลพบว่าการจัดงานบวชยิ่งใหญ่ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท และต้องเสียไปกับค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก เมื่อดื่มเมาแล้วก็เกิดการทะเลาะวิวาท ฆ่ากันตายให้เห็นปรากฎตามสื่อต่างๆ แทนที่จะได้บุญก็ได้บาปตั้งแต่ยังไปไม่ถึงวัด ซึ่งเรามีข้อมูลโดยรวบรวมเมื่อปี 2559 -2562 ก่อนโควิดระบาดพบว่ามีเหตุการณ์เมาทะเลาะวิวาทกันในงานบวช 50 เหตุการณ์ มีคนเสียชีวิต 30 ศพ บาดเจ็บอีกเป็นร้อยราย และจากสถิติของประเทศกรณีอุบัติเหตุทางถนนก็พบว่าปัญหาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถนั้น เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอุบัติเหตุทางถนน” นายชัยณรงค์ กล่าว
ด้าน พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส อิ่มรัตน์) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง จังหวัดจันทบุรี เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ประธานมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า การขยายงานบวชสร้างสุข พระสงฆ์เองถือว่าเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะบางครั้งอาจต้านทานกระแสค่านิยมของสังคมไม่ไหว จึงจำเป็นต้องอาศัยพลังจากหน่วยงานระดับนโยบายของสงฆ์ และฝ่ายบ้านเมืองอื่นๆ หรือพลังของเครือข่ายจากวัดต่างๆ เข้ามาช่วยในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกของชาวพุทธที่หนักแน่นในพระธรรมวินัยเรื่องการจัดงานบวช และเพื่อเปิดการรับรู้การจัดงานบวชที่ยึดพระธรรมวินัยยังมีอยู่ไม่ใช่มีแต่ค่านิยมสังคมอย่างว่านั้น เราจึงเปิดรับสมัครเจ้าภาพที่จะจัด “งานบวชสร้างสุขต้นแบบ” ผ่านเฟสบุ๊ค “มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม” โทร 0845126196, 0637694854