63 ปี วช.จัดเสวนา “สามวัย : เตรียม พร้อม เกษียณ” มุมมองคนทำงาน วัยก่อนและหลังเกษียณ

63 ปี วช.จัดเสวนา “สามวัย : เตรียม พร้อม เกษียณ” ในมุมมองคนทำงาน วัยก่อนและหลังเกษียณ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานเสวนา เรื่อง “สามวัย : เตรียม พร้อม เกษียณ”ในงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประเด็นเตรียมความพร้อมของคนสามวัย สามอาชีพ สามมุมมอง ได้แก่ รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทน มุมมองวัยทำงาน , คุณสุกัญญา ไชยภาษี บรรณาธิการข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 ผู้แทน มุมมองวัยก่อนเกษียณ และคุณอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) ผู้แทน มุมมองวัยเกษียณ

1667216209561_1024x681

โดยรศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากผลงานการวิจัยที่ได้จัดขึ้นเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการคาดหวัง การวางแผน การเตรียมตัวของประชากรผู้สูงวัย และ รูปแบบของการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากวช. โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินงาน ที่มีออกไปเก็บข้อมูลประชากรวัยทำงานตั้งแต่อายุ 18-59 ปี จำนวน 1,700 คนขึ้นไป ครอบคลุมทุก Generation และ ครอบคลุมทุกอาชีพ เพื่อจะรู้ว่ามุมมองของคนทำงานที่มีต่อผู้สูงอายุ หรือ วัยเกษียณ เป็นอย่างไร

1667194157916_1024x599

จากผลงานวิจัยครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันคนที่มีอายุ 60 ปี ยังมีความเป็นหนุ่มสาวไม่เชื่อว่าตนเองจะเกษียณ แล้ว ขณะที่คนรุ่นใหม่กว่า 25% มองว่าควรขยับอายุการเกษียณจากเดิม 60 ปี ไปเป็น 65 ปี และ อีก 10% คิดว่าวัยเกษียณควรอยู่ที่อายุ 70 ปี

ทั้งนี้ ถ้าให้มองลึกลงไปในแต่ละ Generation เริ่มที่ Gen X อายุระหว่าง 42-59 ปี ประชากรของวัยนี้อยากทำงานต่อ ส่วนหนึ่งเป็นสะท้อนว่าอาจมีปัญหาเรื่องการเงินที่ยังเก็บไม่พอที่จะเกษียณได้ ยกเว้นคนที่มีอาชีพเป็นข้าราชการ คนที่ทำงานภาครัฐ รู้สึกว่าอายุ 60 ปี พอแล้วไม่อยากทำงานต่อแล้วและกำลังได้เงินบำนาญใช้ จึงอยากออกมาทำงานเป็นจิตอาสาสนับสนุนงานชุมชน ขณะที่ Gen Y กับ Gen C เป็นGen ที่มีความคิดเหมือนกัน คือ อยากหยุดทำงานก่อนวัยเกษียณซึ่งตรงกันข้ามกับ Gen X และสาเหตุที่คน Gen Y กับ Gen C อยากหยุดทำงานในระบบก่อนวัยเกษียณ เพราะต้องการออกไปทำงานในสิ่งที่ชอบ

ดังนั้นการพูดถึงวัยเกษียณในแต่ละ Gen จะมีมุมมองต่างกัน แผนและนโยบายที่ภาครัฐควรออกมาดูแลเกี่ยวกับอนาคตของผู้สูงวัยในแต่ละ Gen ก็ควรมีไม่เหมือนกัน โดยคน Gen Y กับ Gen C เป็นกลุ่มที่ชอบเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน เช่น คริปโต, อสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ขณะที่คนกลุ่ม Gen X จะเน้นเรื่องการเก็บออม หรือ อดออม เรียกได้ว่าทุก Gen เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ ต่างกันในเรื่องของการเงิน การลงทุน แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้บางคนไม่สามารถออมเงินได้

1667216221247_800x532

ขณะที่ คุณสุกัญญา ไชยภาษี บรรณาธิการข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 ผู้แทน มุมมองวัยก่อนเกษียณ กล่าวถึง จำนวนประชากรผู้สูงวัยในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศ มาเลเซีย มีจำนวนผู้สูงวัยร้อยละ 11 หรือ 3.5 ล้านคน พม่า 5.4 ล้านคน สิงค์โปร์ 1.2 ล้านคน ( นำหน้าอาเซียนเพราะมีประชากรแค่ 5 ล้านคน น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ) ฟิลิปปินส์ 9.4 ล้านคน  ไทย 12 ล้านคน เท่ากันกับเวียดนาม สิ่งที่ตามมาคือมีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นปีละ 1 ล้านคน
ดังนั้นอนาคตประเทศไทยอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุ หรือ วัยเกษียณ อยู่ที่ 20 ล้านคน เนื่องจากคนกลุ่ม Gen X กับ Gen Y เริ่มมีลูกน้อยลง สิ่งที่น่าสนใจคือการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณที่สามารถดูแนวทางนี้ได้จากประเทศสิงค์โปร์ที่ออกกฎหมายบังคับให้ประชากรแบ่งเงินออมออกเป็น 3 ก้อน คือ 1.เงินเพื่อการลงทุน การศึกษา 2.เงินเพื่อเกษียณ 3.เงินเพื่อรักษาพยาบาล  ส่วนประเทศจีน รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้สูงวัยได้รับการศึกษาด้านการทำธุรกิจขายของผ่านออนไลน์ แทนอยู่บ้านเฉย ๆ กลับมาที่ประเทศไทย พบว่า ผู้สูงวัยยังมีฐานะยากจน ต้องออกมาขายของได้วันละไม่กี่ร้อย การช่วยเหลือด้านสวัสดิการของรัฐเบี้ยผู้สูงวัยเดือนละ 600 บาท ถือว่าไม่เพียงพอต่อชีวิตวามเป็นอยู่

นอกจากนี้การทำงานของภาครัฐ มีการคิดเรื่องออมเงินช้าไป ประกอบกับจำเป็นต้องขยายเพดานการออมเงินในประกันสังคมให้สูงขึ้นไม่ใช่ตีกรอบรายได้แค่ 15,000 บาท เท่านั้น รวมถึงที่ผ่าน Gen X ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการออมเงินเลย ทำให้วันนี้จำเป็นต้องเพิ่มอายุของคนวัยนี้ให้ยังได้ทำงานต่อไป ต่างจากคน Gen Y กับ Gen C มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนเร็ว ส่งผลให้สามารถเกษียณได้เร็วเนื่องจากมีเงินออมเร็ว

1667216230486_800x532

อย่างไรก็ดี คุณอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) ผู้แทน มุมมองวัยเกษียณ กล่าวว่า เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เป็นความหวังเดียวของคนกลุ่มนี้ที่ถือว่าไม่พอ และลูกหลานในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีตว่าจะเลี้ยงดูผู้สูงอายุหรือไม่ ขณะที่ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เยอะมากแต่ไม่เคยคิดจะจัดสรรลงมาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุเลย ควรทำให้เรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติในการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ควรมีการทอดทิ้งผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องการไปโรงพยาบาลรัฐบาลที่ต้องไปแต่เช้าตรู่ กว่าจะกลับมาบ้านก็ 4 โมงเย็น บางวันไม่มีค่ารถโดยสารไปโรงพยาบาลเพราะเบี้ยสูงอายุยังไม่ออก ดังนั้นอยากให้ภาครัฐรณรงค์เรื่องการออมเงิน การดูแลผู้สูงอายุ มากกว่านี้ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

สุดท้ายกลับมาที่การเตรียมความพร้อมนอกจากเรื่องการออมเงิน คือ การ Re Skill และ Up Skill เรื่องงานเพื่อให้ยังสามารถมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเอง เหมือนประเทศจีน ที่ผู้สูงอายุไปขายของผ่านออนไลน์ และ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อแบ่งเบาภาะค่าใช้จ่าย การเก็บทองแทนเก็บเงินเพื่อการออม เพราะทองคำเป็นทรัพย์สินที่ต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อได้ และ เมื่ออายุ 40 ปี ก็ควรเก็บได้เดือนละหมื่น ในการออมใช้วันที่เกษียณอายุได้ รวมถึงการเปลี่ยนที่พักอาศัยจากเมืองหลวงไปอยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากค่าครองชีพถูกกว่า

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.