สอวช. จับมือเครือข่าย ผลักดัน FUTURE FOOD รับมือวิกฤตอาหารโลก

สอวช. จับมือเครือข่าย ผลักดัน FUTURE FOOD รับมือวิกฤตอาหารโลก ชี้ปี 66 ไทยส่งออกสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท

ระบบอาหารของโลกมีความเปราะบางและไม่เพียงพอต่อความต้องการของมวลมนุษยชาติ และเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ไม่ได้รับอาหารเพื่อสุขภาพ โดยปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสงคราม ความขัดแย้ง ภาวะโลกระบาด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ถูกหยิบยกมาพูดในวงกว้าง ด้วยมองว่าเป็นทางเลือกและทางรอดของมวลมนุษยชาติ ในยุคที่โลกมีความผันผวนในหลากหลายมิติจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เพราะอาหารแห่งอนาคตผลิตจากแหล่งโปรตีนที่มีกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยภาครัฐหลายหน่วยงานได้มีการวางแผนสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตตามเทรนด์อาหารและกระแสความยั่งยืนของโลก

โลก

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและพบว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกอาหารอนาคต (Future Food) มูลค่ากว่า 144,000 ล้านบาท สัดส่วนส่งออกมากที่สุดคือ อาหารสุขภาพ และสารประกอบเชิงฟังก์ชัน 89% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ กลุ่มอาหารอนาคตมีสัดส่วนส่งออก 11 % ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย และคาดการณ์ว่าภายปี 2570 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตจะมีมูลค่าถึง 220,000 ล้านบาท จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารอนาคตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และตอบรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก

นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดย 90% เป็นอาหารแปรรูปและไม่แปรรูป เช่น ไก่ ทูน่ากระป๋อง สับปะรด มันสำปะหลัง เป็นต้น และอีก 10% เป็นอาหารอาหารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่เราอยากส่งเสริมให้เติบโตในอนาคต

โดยกลุ่มอาหารเดิมที่ส่งออก นางสาวสิรินยา บอกว่า จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงด้านผลิตภาพ หรือ Productivity เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งปุ๋ย อาหารสัตว์ มูลค่ามหาศาลต่อปี ซึ่งมีความเปราะบาง ดังนั้นทิศทางที่เราจะสนับสนุนคือ ด้านความปลอดภัยและความยั่งยืน และไม่พึ่งพาการนำเข้า โดยการผลิตให้เพียงพอ เพิ่มผลิตภาพโดยการใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์

สอวช. ได้วางกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนอาหารอนาคตของไทยด้วย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานของรัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ผ่าน 4 แนวทาง ได้แก่

  1. สร้างคอนเซอร์เทียมวิจัยวัตถุดิบต้นน้ำ ผ่านการบริหารจัดสรรทุนวิจัย
  2. สร้างแพลตฟอร์มถ่ายทอดเทคโนโลยี และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (Localization & Transfer) ประเมินเทคโนโลยี ตลาด วิจัยกระบวนการผลิต โรงงานต้นแบบ บริการตรวจวิเคราะห์ตลอดจนสนับสนุนการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
  3. ส่งเสริมหน่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Foodtech & Biotech ยกระดับเป็น Smart Regulation Zone
  4. พัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม โดยวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต นำมาออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะ ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-Degree นำไปสู่การปฏิบัติงานจริงในสถานการประกอบการต่อไป

ผอ.สิรินยา ยังระบุด้วยว่า จากข้อจำกัดทั้งเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เรื่องของเงินลงทุน และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ต้องลงทุนด้านนวัตกรรม อย่างเรื่องสารสกัดต่าง ๆ อีกมาก ทำให้มีภาคเอกชนจำนวนไม่กี่รายที่มีความพร้อม ขณะเดียวกันการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรพัฒนาพืชผลทางการเกษตร สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน สามารถนำมาต่อยอดในการผลิตสารสกัดได้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน สอวช. ได้มีการสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาครัฐในกระทรวงต่าง ๆ อาทิ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย หอการค้าไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ของไทยให้สามารถยกระดับสินค้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออกมากขึ้น โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน และสตาร์ทอัพในการผลักดันให้อุตสาหกรรม Future Food เติบโตมากขึ้น เพราะปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยลดภาระทางการแพทย์ ข้อมูลพบว่า รัฐใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาทในการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม NCDs ซึ่ง 57% ของผู้บริโภคทั่วโลกสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ

“อว. มีกองทุนวิจัย มีหน่วยงานที่ให้ทุนต่าง ๆ และมีโจทย์ที่ชัดเจนจากภาคอุตสาหกรรม การให้ทุนวิจัยจึงเป็นแบบพุ่งเป้าอย่างชัดเจน ซึ่งตอนนี้เรื่องของ Future Food รวมถึงสารสกัดต่าง ๆ มีนักวิจัยทั่วโลกเริ่มต้นในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการไทยและนักวิจัยสามารถต่อยอดสิ่งที่ทั่วโลกมีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีระบบนิเวศ มีการนำเครื่องมือ หรือแพลตฟอร์ม เข้ามาประสานให้แหล่งทุนเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการและนักวิจัยมากขึ้นด้วย” นางสาวสิรินยา กล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *