มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นิสิต นักศึกษาและประชาชนต่างทยอย เข้าชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายในระบบวิจัย มาจัดแสดงในงานที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยคัดเลือกผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงานกว่า 100 หน่วยงาน มาจัดแสดง
โดยหนึ่งผลงานวิจัยที่โชว์ในเวที “Research Expo Talk” ในวันนี้ คือ นวัตกรรม “แท่นจับเลื่อยตัดกระดูกเพื่อความง่ายและแม่นยำ ของ ดร.ทศพร เฟื่องรอด นักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าให้ฟังถึงแนวคิดว่า หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยของการปฏิบัติการทางคลินิกในห้องผ่าตัดกระดูก ข้อจำกัดและอุปสรรคในการใช้อุปกรณ์เลื่อยตัดกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ศัลยกรรมกระดูกที่มีประสบการณ์ดังกล่าวหรือแพทย์ศัลยกรรมที่เพิ่งจบใหม่ ส่งผลให้การตัดกระดูดไม่เรียบ และมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของการรักษาได้
นอกจากนี้เลื่อยตัดกระดูกแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังพบปัญหา อาทิเช่น ขาดความสามารถในการรับแรงและควบคุมเลื่อยระหว่างการผ่าตัด ยังไม่สามารถวัดมุมในการตัดกระดูกได้ ดังนั้นการตัดกระดูกจึงเป็นการคาดคะเนมุมโดยประมาณ ยังขาดความแม่นยำของมุมในการผ่าตัดกระดูกเปลี่ยนแนวสำหรับผู้ป่วยเข่าโกง และการปนเปื้อนเชื้อโรคระหว่างการผ่าตัดที่เกิดจากการส่งอุปกรณ์เลื่อยในห้องผ่าตัด เป็นต้น
ดร.ทศพร เฟื่องรอด กล่าวต่อว่า นวัตกรรมแท่นจับเลื่อยตัดกระดูกเพื่อความง่ายและแม่นยำ ช่วยในการประคองและลดการสั่นสะเทือน ส่งผลให้การตัดกระดูกมีความเรียบมากยิ่งขึ้นรวมทั้งเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด และลดปริมาณการสูญเสียของเนื้อกระดูกที่เกิดขึ้นในรอยต่อของกระดูกที่ผ่าไป ตลอดจนลดการปนเปื้อนในการรับส่งเครื่องมือ หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด จุดเด่นของผลงาน 1. มีระบบ ergonomic arm ในการชดเชยน้ำหนักของเลื่อยขณะผ่าตัด 2. มีระบบ image processing ในการวัดมุมและระยะในการผ่าตัด 3. มีระบบ interlock safety system ในการป้องกันการผิดพลาดในการผ่าตัด
4. มีระบบ temperature control ในการป้องกันความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของใบเลื่อยและกระดูก และ 5. สามารถใช้ติดกับเลื่อยตัดกระดูกได้ทุกรุ่นขณะนี้ นวัตกรรม “แท่นจับเลื่อยตัดกระดูกเพื่อความง่ายและแม่นยำ อยู่ในขั้นตอนการพัฒนและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ได้ทดสอบปฎิบัติการแล้วผลเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้จะพัฒนาเรื่องของมาตราฐานเพื่อที่จะได้จด อย. ให้ผ่าน เพื่อที่จะนำไปขายในปี 2566 ให้ได้
นวัตกรรม “แท่นจับเลื่อยตัดกระดูกเพื่อความง่ายและแม่นยำ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี 2563 จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินมาครอง