ดีป้า จัดงาน “Transform Market Showcase 2022” ยกระดับตลาดสดสู่ยุควิถีใหม่ โชว์ผลงานโครงการ “Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่” ติดปีกผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดทะลุเป้า เกิดการเข้าถึงและประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการขายและจัดส่งสินค้ามากกว่า 30,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 300 ล้านบาท พร้อมเปิดแผนปูพรมพลิกโฉมตลาดสดทั่วประเทศเพิ่ม 25 จังหวัด สานต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังต้องเผชิญซึ่งเป็นตัวกระตุ้นเร่งให้เราต้องปรับเปลี่ยนอย่างทันท่วงที โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่ต้องเร่งสร้างและพัฒนา คือ “ทักษะดิจิทัลของคนไทย” ซึ่งโจทย์ที่สำคัญของภาครัฐไม่เพียงแต่ให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องทำให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างมั่นคงในทุกมิติ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า งาน “Transform Market Showcase 2022” ยกระดับตลาดสดสู่ยุควิถีใหม่ เป็นการประกาศความสำเร็จ (Showcase) ของโครงการ “Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่” ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพัฒนาไปสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – มีนาคม 2565 ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี พร้อมขยายการรับรู้ไปยังปริมณฑลอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ เพื่อให้ผู้ประกอบการในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและนำร้านค้าเข้าแพลตฟอร์มช่องทางการจำหน่ายและจัดส่งสินค้า (Local Application) ผ่านการจับคู่ธุรกิจกับดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยและผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) จำนวน 28 ราย ผลปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 30,050 ราย มีสินค้าจำหน่ายมากกว่า 200,000 รายการ จากการลงพื้นที่ตลาดสดจำนวนกว่า 300 แห่ง ช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 300 ล้านบาท
จากสถิติ พบว่า จังหวัดที่ผู้ประกอบการเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนรูปแบบพื้นที่ตั้งร้านค้าที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดนัด ตลาดสด และหาบเร่/แผงลอย ร้านค้าริมทาง สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ระบบชำระเงินออนไลน์ (E–payment) ระบบบริการ (Service) และระบบการสั่งอาหารหรือสินค้า (Delivery) ขณะที่การจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ จำนวน 5 หลักสูตร ผ่าน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ YouTube, Facebook Group, Classwin และ Digital Skill ซึ่งเปิดระบบตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า 1.2 ล้าน คน
“โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่สามารถผลักดันพ่อค้าแม่ค้าเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่ การคัดเลือกดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติไทย ครอบคลุม 6 กลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ การจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ และการลงพื้นที่จัดกิจกรรมตลาดต้นแบบร่วมกับขบวน Troop ในพื้นที่เป้าหมาย สำหรับการจัดงาน Transform Market Showcase 2022 ในครั้งนี้เป็นการสรุปภาพความสำเร็จของโครงการฯ เพื่อแสดงศักยภาพของพ่อค้าแม่ค้าที่สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มช่องทางและสร้างโอกาสทางการตลาด ทำให้เกิดกลไกหมุนเวียนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงเครือข่าย ต่อยอด และพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันพลิกโฉมตลาดสดเมืองไทย สู่ตลาดสดยุควิถีใหม่เต็มรูปแบบ อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีป้า มีแผนต่อยอดการดำเนินงานเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการร้านค้าอีก 65,000 ราย พร้อมทั้งสร้างตลาดต้นแบบด้านดิจิทัล ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพิ่มเติม 25 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สระบุรี ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านการบริหารจัดการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการขายและจัดส่งสินค้า สร้างโอกาสทางการตลาดในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อร่วมกัน “เปลี่ยนทุกการซื้อขายสู่ (โลก) ออนไลน์ ปรับทุกไลฟ์สไตล์สู่สังคมไร้เงินสด” ในอนาคตอันใกล้ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ ได้ที่ transformmarket.depa.or.th
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ E–mail: info.transformmarket@gmail.com และ LINE OA: @transformmarket