“มทร.อีสาน” เล็งโชว์เสื้อผ้าใยไหมผสมใยฟางข้าว มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ65 

ครั้งแรก “มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์” นำผลงานเด่น  “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” โชว์ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ พร้อมจัดงานใหญ่ประจำปี  “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ( Thailand Research Expo 2022)”   ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ  เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์  อัดแน่นผลงานวิจัยมากกว่า 700 ผลงาน โอกาสนี้ทีมวิจัยจากรั้วมทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก จัดเต็มโชว์ผลงานเด่น  “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว”  ชูเป็นวิจัยจากสหวิทยาการสร้างองค์ความรู้แปลงฟางข้าวเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ สู่ผืนผ้า อีกทั้งเกิดนวัตกรรมเครื่องจักรปั่นเส้นใยฟางผสมใยไหม เกิดนวัตกรช่วยพัฒนาอาชีพผู้ประกอบการ ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วยสร้างงาน อาชีพแก่ประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น 50% จากสามารถลดต้นทุนในการทอผ้าได้มากถึง 80%
 
อาจารย์รัตนเรขา อัจฉริยพิทักษ์  จากสาขาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์  หัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วย อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร และอาจารย์รัตนจิรา รัตนประเสริฐ สาขาพืชศาสตร์ร่วมเปิดเผยว่า ได้รับเกียรติจากทางวช.ให้นำกิจกรรมพัฒนาระดับพื้นที่เข้าร่วมโชว์เป็นครั้งแรก ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” หรือ  “Thailand Research Expo 2022”  ได้แก่ ผลงาน “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว”     ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่เป็นสหวิทยาการบูรณาการหลายศาสตร์ โดยพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
การวิจัยเริ่มในปี 2563 โดยลงพื้นที่ในชุมชนต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์  เพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดจากอาชีพเดิมที่มีการทอผ้าไหมและมีสิ่งเหลือทิ้งเป็นเปลือกไหมจำนวนมาก  ขณะที่ผู้ประกอบการเปิดเผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้ายก ขายยาก  ประกอบกับในพื้นที่มีฟางข้าวจากกระบวนการผลิตอยู่มาก จึงคิดนำเศษใยไหมมาผสมฟางวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า  โดยปีแรกคิดหาวิธีย่อยฟางข้าว โดยพัฒนากระบวนการหมักเส้นใยด้วยเคมี ที่สามารถทำได้เร็วภายใน 3-5 วัน    
ในปี 2564  ได้พัฒนากระบวนการย่อยเส้นใยด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากผลไม้มีฤทธิ์เปรี้ยวในท้องถิ่น ซึ่งพบว่า ใช้เวลาหมักเส้นใยนานกว่าใช้เคมี คือ 3เดือน แต่มีความปลอดภัย ประชาชนปฏิบัติง่ายและช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 80% จากการนำฟางมาเป็นส่วนผสมซึ่งช่วยลดต้นทุนเส้นใยไหมที่มีราคาสูงถึง 2,000 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร หนึ่งในทีมงานยังได้คิดค้นเครื่องมือเพื่อทำให้ประชาชนทำงานได้ง่ายขึ้น เพื่อทุ่นแรง เป็นเครื่องปั่นเส้นใยฟางผสมใยรังไหม ทดแทนการใช้เครื่องหัตถกรรมแบบเดิม ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วและผลิตเส้นใยได้เพียงพอต่อการนำไปใช้ถักทอทำผ้าผืน โดยสามารถปั่นเส้นใยได้ยาว 1 เมตรต่อ  1 นาที
ต่อมาในปี 2565 ได้รับทุนต่อเนื่องเพื่อนำเส้นใยมาถักทอจนถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเส้นใยได้ถูกเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง อาทิ ผ้าทอเป็นผืน เสื้อผ้าสตรีและบุรุษ สูท แจ็คเก็ต เนคไท หน้ากากผ้า หมวก กระเป๋า ของที่ระลึก และล่าสุดได้มีการขยายผลความสำเร็จโครงการจาก ต.เขวาสินธ์รินทร์มายังชุมชน ต.โพนครก อ.ท่าตูม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) ซึ่งเป็นบริการวิชาการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดไปจนถึงเชิงตลาดการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์
อาจารย์รัตนเรขากล่าวต่อว่า  โครงการวิจัยนี้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เชิงพื้นที่หลายอย่าง ทั้งองค์ความรู้ในการผลิตเส้นใยรูปแบบใหม่ เกิดนวัตกรรมเครื่องจักรใหม่ ๆ กระบวนการออกแบบลายผ้าใหม่ ๆ เพื่อป้องกันลอกเลียนแบบเกิดการพัฒนาลายใหม่ ๆ ตอบโจทย์ตลาดและเกิดนวัตกรชุมชน ซึ่งชุมชนคัดเลือกมาเองพิจารณาจากผู้มีทักษะความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อไปอบรมเรียนรู้กระบวนการทั้งหมดและนำไปถ่ายทอดต่อในชุมชน  เช่น ผู้มีทักษะด้านช่าง ทักษะด้านการเกษตร ด้านทอผ้า การออกแบบลายผ้า การแปรรูปหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ทั้งนี้จากการประเมินผลกระทบกระบวนการผลิตใหม่พบว่า  ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 50% เพราะแทบไม่มีต้นทุน มีการใช้เส้นใยไหมลดลง ใช้เศษฟางที่หาได้ในท้องถิ่นมาผสม ใช้ผลไม้ในท้องถิ่นทำน้ำหมักชีวภาพ ทำให้เส้นใยและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ได้รับการขานรับจากผู้บริโภคมียอดออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก 
ชมผลงานวิจัย“ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” และผลงานวิจันอื่นจากฝีมือนักวิจัยไทยกว่า 700 ผลงาน และเวทีประชุมที่น่าสนใจ กว่า 150 เรื่อง ได้ในงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1- 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *