ใครว่าของหมักดองไม่ดี อภัยภูเบศร แนะ 100 ตำรับอาหารโปรไบโอติกส์แบบไทย เสริมภูมิคุ้มกันสู้โควิด หาง่าย ไม่แพง ขณะที่เกาหลีศึกษาร่วมฝรั่งเศส ผลวิจัยชี้ “กิมจิ” อาจมีผลลดรุนแรงโรค
ในช่วงสถานการณ์โควิดทวีความรุนแรง นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพทั้งการใช้ยาสมุนไพร การใช้อาหาร แนวทางดูแลตนเองที่บ้าน รวมถึง การกินอาหารเสริม วิตามิน และอาหารที่จุลินทรีย์ดีเพื่อช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ และฟื้นฟูสุขภาพในผู้ป่วย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ความรู้ผ่านทางเพจ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” โดยหยิบยกประเด็นอาหารโปรไบโอติกส์ซึ่งมีบทบาทในการช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ภายในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น จึงลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดการเกิดพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) หรือภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปได้ การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับ มหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดสอบความเป็นพรีไบโอติกส์ของสมุนไพรและตำรับอาหารไทย โดยพบว่า สมุนไพรที่ส่งเสริมการเจริญของเชื้อโปรไบโอติกได้ดีมาก ได้แก่ เม็ดบัว กลอย ขมิ้นขาว ขิงอ่อน ขิงแก่ ข่า หอมแดง ตะไคร้ ลูกยอ กระเจี๊ยบเขียว ส่วนผักบางชนิดหากรับประทานมากๆ อาจยังยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว
นอกจากนี้ยังพบว่า อาหารไทยกว่า 100 ตำรับ มีพรีไบโอติกส์สูง เช่น กระจับผัดพริกเผา ข้าวคลุกกะปิ ขนมผักกาด ฯลฯ ซึ่งเป็นเมนูที่ส่งเสริมการเจริญของเชื้อโปรไบโอติกได้ดีมากถึงกว่า 20% นอกจากนี้ยังพบว่าการเสริมอาหารประเภทเครื่องเทศ หรือพืชลงหัว ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เนื่องจากหาได้ง่าย และมีราคาไม่แพง
“การศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าโปรไบโอติกส์ค่อนข้างโดดเด่นในด้านการเสริมภูมิคุ้มกันและยังเป็นที่ยอมรับกันด้วยว่าโปรไบโอติกส์ สามารถกระตุ้นเซลล์แมคโครฟาจซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเพิ่มการสร้างสารภูมิต้านทานชนิด IgA ที่ระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่อการหลั่งไซโตไคน์ชนิดต่างๆ ได้ผ่านระบบภูมิคุ้มกันที่เยื่อเมือกหรือเยื่อบุ (mucosal immune response) จุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ยังส่งผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาว (regulatory T cells) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับภูมิคุ้มกันของร่างกาย”
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการศึกษาจากต่างประเทศ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่สามารถเทียบเคียงได้คือ การวิจัยของประเทศเกาหลีร่วมกับฝรั่งเศส พบว่า “กิมจิ” อาหารพื้นบ้านของเกาหลีที่เรารู้จักกันดีนั้น อาจช่วยลดความรุนแรงในการเกิดโรคโควิด 19 ได้ โดยระบุว่าในกิมจิมีสารอาหารหลายชนิด ทั้งผักกาด พริกชี้ฟ้า ขิง และกระเทียม ที่มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งส่วนผสมต่างๆ เหล่านี้ ออกฤทธิ์ต่อ Nrf2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการอักเสบของร่างกาย
ปัจจุบันนักวิจัยเกาหลีกำลังศึกษากลไกให้ละเอียดขึ้นสำหรับบทบาทของกิมจิต่อโรคโควิด19 โดยก่อนหน้าที่จะมีงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการศึกษาซึ่งเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ พบว่าในประเทศที่มีอัตราการตายจากโควิดน้อย ประเทศเหล่านี้ล้วนบริโภคอาหารหมักดอง และเครื่องเทศ ในงานวิจัยนี้ได้ระบุว่า ในอาหารหมักดองแบบดั้งเดิมมักประกอบด้วย แบคทีเรียดี ชนิดแลคโตบาซิลลัส ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้ป่วย ชุมชนหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงสถานพยาบาลในการเลือกใช้อาหารกลุ่มนี้ในการฟื้นฟู และลดความรุนแรงชองผู้ป่วยได้
สำหรับ โปรไบโอติกส์” หมายถึงจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมแล้วจะมีผลเชิงบวกต่อผู้บริโภค เช่น ลดความถี่ในการเกิดภูมิแพ้ เสริมสร้างระบบขับถ่ายที่ดี ช่วยควบคุมน้ำหนัก ผลิตวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน โปรไบโอติกส์พบได้บ่อยจากอาหารที่ผ่านการกระบวนการหมัก การดอง การบ่ม พบได้ในอาหารพื้นเมืองของหลายๆ ประเทศ เช่น ข้าวหมาก ถั่วเน่า ผักเสี้ยนดองของไทย กิมจิของเกาหลี มิโสะ ของญี่ปุ่น เต้าเจี้ยวของจีน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์นมหมัก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย และเป็นสิ่งที่ประชาชาเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนต่ำ