กลับมาอีกครั้ง กับงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี ถือเป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงการบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิดขึ้น ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “COVID-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ว่า “งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง วช.และประชาคมวิจัยทั่วประเทศ อว.ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการเสนอแนวทาง การขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศเจริญแล้วภายในปี พ.ศ.2580 หรือ อีก16 ปีข้างหน้า โดยใช้วิจัยและนวัตกรรม โดยจะต้องทำแบบมี Commitment เพื่อให้คนรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เราไม่สามารถพึ่งเศรษฐกิจและทรัพยากรพืชผล ได้อย่างเดียวได้ แต่ต้องอาศัยวิจัยและนวัตกรรม จะเกิดประโยชน์เป็นร้อยเป็นพันเท่า โดยตั้งแต่COVID-19 ได้เข้ามามีบทบาท ทำให้เห็นว่างานวิจัยสามารถตอบโจทย์
ประเทศไทยเป็นอย่างดี เห็นช่องทางการทำธุรกิจแบบประเทศที่เจริญแล้ว บุคลากรนักวิจัยเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อาทิ ห้อง ICU ความดันลบ วัคซีนที่กำลังจะใกล้ใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นต้น ซึ่งผลงานของนักวิจัยไทยสามารถผลิตในราคาที่ต่ำกว่า 5 ถึง 10 เท่า ของผู้ผลิตในตลาดโลก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจสร้างผลิตผล และการบริการที่สำคัญต่อไปได้”
ในการนี้ รมว.อว.ได้เสนอให้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องทำแบบเดิน 2 ขา คือ การทำวิจัยและนวัตกรรม ควบคู่กับการทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สะท้อน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นิเวศน์ของประเทศ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่า ควรเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการทำงานและถอดบทเรียนอย่างจริงจัง มีความเชื่อและความหวังในการมีอนาคตที่ดี ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยการศึกษาอดีต ประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อผสานอดีตกับกระแสโลกไปสู่อนาคต โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เข้าด้วยกัน
“ในยุคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นสังคมไทยที่เข้มแข็ง และยืดหยุ่น งานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์และตอบโจทย์อย่างมากต่อประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไปได้มาก ด้วยการร่วมมือกัน เราจึงสามารถผ่านพ้นวิกฤติ โควิด-19 ได้ โดยเราต้องทำงานแบบ Necessity is the mother of innovation (ความจำเป็น เป็นมารดาของการประดิษฐ์คิดค้น ) ในหัวใจ ไม่เพียงแค่ทำงานในสาขาวิชาของตน แต่ต้องบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่เจริญแล้วภายในปี พ.ศ.2580 ให้ได้” รมว.อว. กล่าว
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ปีนี้ วช. ได้นำประเด็นตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายของรัฐและประเด็นที่เป็นปัญหา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกที่ได้เผชิญวิกฤตการการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มากำหนดเป็นธีมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้ 1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model 6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
และ 7) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ พร้อมทั้งนำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทยและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฉายพระอัจฉริยะภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการการนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในวิจัยทั่วประเทศในรูปแบบไฮบริด โดยมีการจัดประชุมสัมมนาด้วยระบบออนไลน์กว่า 100 หัวข้อ และสามารถชมนิทรรศการได้ในรูปแบบ Visual Exhibition ที่จำลองบรรยากาศงานผ่านแพลตมฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการ Live ในแต่ละวัน นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน