“เด็กหลุดนอกระบบ วิกฤตที่ยังไม่จบ”
เร่งสร้าง “ห้องเรียนฉุกเฉิน”ช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กหลุดจากโควิด-19000
เครือข่ายการศึกษา ร่วมกับ กสศ. สำรวจสถานการณ์ปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบในพื้นที่ พบ ยากจนฉับพลัน – ย้ายถิ่นจากการตกงาน – เรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิผล ต้นเหตุเด็กไทยเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ศ.ดร.สมพงษ์ ห่วง 3 เดือนอันตรายเด็กหลุดนอกระบบ อาจเข้าสู่วงจรสีเทา ชี้ต้องเร่งหยุดวิกฤต ด้วยมาตรการเร่งด่วน เสนอแนวทางทำ “ห้องเรียนฉุกเฉิน” Emergency Classroom สร้างระบบดูแลช่วยเหลือฟื้นฟู ปรับหลักสูตรยืดหยุ่น จับมือหลายหน่วยงานทดลองทั้งระดับจังหวัด ท้องถิ่น และโรงเรียน
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายการศึกษา จัดเสวนา “หยุดวงจรเด็กหลุดออกนอกระบบจากวิกฤตโควิด-19 เจาะลึกกระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูจากพื้นที่ต้นแบบ” เพื่อสำรวจสถานการณ์เด็กจากผลกระทบโควิด-19 และระดมสมองจากพื้นที่และองค์กรต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบในระยะเร่งด่วน ในการเร่งหาแนวทางในการรับมือป้องกันและแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบาง ในระยะฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด-19
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบจากโควิด-19 ช่วงสองปีเศษทำให้ครอบครัวคนไทยที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ลูกจ้างรายวันทั้งหลาย เกิดสภาพ ‘ตายดิบ’ หรือ ‘ตายครึ่งตัว’ มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 1,244,591 คน หรือคิดเป็น 19.98 % ของนักเรียนทั้งหมด สร้างสถิติสูงสุดจากที่ผ่านมา เปรียบเทียบจากเทอม 1/2563 ที่มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 250,163 คน
กสศ.และเครือข่ายภาคีในพื้นที่ ได้รวบรวมสาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามาจาก 2 ประเด็นหลักคือ 1. หลุดจากความยากจนฉับพลัน จากสึนามิไวรัสโควิด-19 สองปีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับมาหนักขึ้น ทั้งคนตกงาน ต้องย้ายถิ่นฐาน ไม่มีรายได้ และ 2. หลุดจากเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ ทำให้เกิดความถดถอยทางการศึกษาไปถึง 50% เด็กป.1-ป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้คิดเลขไม่ได้ การเรียนรู้จากระบบออนไลน์มีประสิทธิภาพ แค่ 50% มีความเหลื่อมล้ำในประเด็นอุปกรณ์ไอที การสำรวจของกสศ. เด็กนักเรียนใน 29 จังหวัด ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ถึง 87% เมื่อเรียนไม่ทันเด็กติดศูนย์ ติด ร. เปิดเทอมไม่มาเรียนหายตัวไปจากระบบการศึกษาแบบเงียบๆ แม้จะยังมีชื่ออยู่ในระบบก็ตาม
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งให้รอดไม่ใช่แค่เรื่องทุนการศึกษาอย่างเดียว ต้องมองให้ครบมิติเพื่อป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบซ้ำอีก 1.สุขภาพกายเช่น การเข้าถึงวัคซีน ภาวะโภชนาการ 2.สุขภาพใจ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีภาวะความเครียด ซึมเศร้า มีแรงกดดันความกังวลในช่วงการกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง 3.สังคม ภาวะโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน การทำงานที่เสี่ยงอันตราย หรือถูกเอาเปรียบค่าแรง 4.ด้านการศึกษา ความรู้ที่ถดถอย เรียนไม่ทันเพื่อน
“ที่น่าเป็นห่วงคือช่วงสามเดือนอันตรายถ้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษานานถึงสามเดือนจะเสี่ยงที่พวกเขาจะเข้าสู่วงจรสีเทา ทั้งติดเพื่อน ติดเกม ติดยาเสพติด หรือถ้าเราไม่ทำอะไรแล้วพวกเขาเข้าไปในสถานพินิจ พอออกมาสามเดือนก็มีโอกาสกลับเข้าไปซ้ำได้อีก ตรงนี้เป็นบทเรียนที่เราเริ่มเห็นแล้วว่า สังคมไม่อาจปล่อยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปแบบลำพังต่างคนต่างทำไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเด็กยากจนด้อยโอกาส ช่วยกันซ่อมชีวิต ซ่อมจิตวิญญาณให้เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวถึงสถานการณ์เด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชนเมืองว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมเมืองมีหลายด้าน กลายเป็นความยากจนครบวงจร ทั้งที่อยู่ การศึกษา รายได้ หาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ หลายครอบครัวตกงานงานถาวร การที่จะให้เด็กคนหนึ่งหลุดพ้นความยากจนนั้นยากมาก เด็กต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน งานแรกคือแจกไพ่ ขายล็อตเตอรี่ เรียงเบอร์ ยิ่งมีการระบาดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากเด็กหลุดออกจากระบบมากขึ้น จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนใน 4 ชุมชนที่มีประชากรกว่า 5,000 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่อายุ 0-20 ปี ราว 1,400 คน พบว่ามีจำนวนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 200 คนที่ยังมีชื่ออยู่ในโรงเรียน แต่ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่มีจุดหมายในการเรียนต่อ มีแนวโน้มหลุดจากระบบ
ขณะที่ ในจังหวัดยะลาหนึ่งในจังหวัดที่มีความยากจนสูงที่สุด นางสาว รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในจังหวัดมีปัญหาเรื่องทุพโภชนาการเป็นอันดับสองของประเทศเด็กแคระแกร็น เด็กปฐมวัยไม่ใช่หลุดจากระบบการศึกษา แต่เข้าไม่ถึงการศึกษา ส่วนเด็กในระบบการศึกษาอยู่ในครอบครัวยากจนมีพี่น้องหลายคนมีความยากลำบากในการมาเรียน ที่ผ่านมามีเด็กหลุดจากระบบก็ดึงกลับมาพัฒนาทักษะชีวิต สร้างแรงบันดาลใจแต่ก็ยังหลุดไปอีก ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต โมเดลการศึกษาจริงๆ ต้องตอบโจทย์สิ่งที่เด็กต้องการคือเรื่องรายได้ ปากท้อง ทำให้พยายามสอดแทรกทักษะอาชีพเข้าไปในในหลักสูตร
จากข้อมูลในพื้นที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยใน 3 อำเภอนำร่องมีเด็กนอกระบบและต้องการความช่วยเหลือกว่า 2,800 คน และยังมีเด็กในระบบการศึกษาอีกประมาณ 1,000 คน ต้องการความช่วยเหลือแต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ช่วยได้เพียงแค่ 377 คน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่หนัก และเป็นเรื่องที่ กระทรวงศึกษาธิการเจ้าภาพหลักไม่สามารถทำงานได้เพียงหน่วยงานเดียวแต่ต้องทำงานร่วมกันกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหนึ่งในกระทรวงมหาดไทยต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกองคาพยพ ซึ่งยะลามีต้นทุนที่ดีในเรื่องความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงาน
“แค่เด็กออกจากโรงเรียนหนึ่งเดือนก็อันตรายแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เด็กไม่หลุดไปจากระบบ เปรียบเทียบกับ โรงพยาบาลที่มีห้อง ER Emergency Room หรือ ห้องฉุกเฉิน โรงเรียนก็น่าจะมี Emergency Classroom หรือห้องเรียนฉุกเฉินที่ เมื่อรับเด็กกลับเข้ามาเรียนแล้วจะใช้กระบวนการสอนเสริมอย่างไร เรียกเด็กมาคุยเพื่อเก็บงานวิธีใดก็ได้แต่ให้คุณรับเด็กไว้ก่อน แล้วกระบวนการจัดการภายในให้เป็นเรื่องของโรงเรียน และต้องขอฝากไปถึงกระทรวงศึกษาธิการให้ไปขบคิดต่อยอดคิดค้นหลักสูตรวิธีการที่เป็น Emergency Classroom เมื่อรับเด็กกลับมาเรียนแล้วจะมีรูปแบบในลักษณะแบบใดต่อไป” รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นไปในทางดีขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤตยังคงเข้มข้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงโจทย์สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชนนอกระบบที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าศึกษาต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานเนื่องจากพ่อแม่ตกงาน และปัญหาจากการขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์
“เมื่อผู้ปกครองเด็กขาดรายได้ บางส่วนเขาก็ต้องย้ายกลับภูมิลำเนา หรือบ้างโยกย้ายไปหางานทำที่อื่น ทำให้มีเด็กจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเคสของเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนต่อด้วยปัญหาต่าง ๆ เช่น ความไม่รู้ขั้นตอนในการพาลูกเข้าโรงเรียน หรือโรงเรียนไม่มีระบบรองรับนักเรียนกลางเทอม ประเด็นเหล่านี้เราไม่สามารถโยนภาระการดูแลแก้ไขให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องมีการเชื่อมร้อย-ประสานชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพราะคนที่รู้สถานการณ์หรือคะแนนตัวเลขได้คือหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ จากนั้นถ้ามีการส่งต่อข้อมูลและออกแบบการทำงานระหว่างหน่วยงานตามความถนัดได้ เราจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่ส่งต่อถึงกันได้หมด ถ้ามีเด็กออกกลางคันที่ กทม. เขาไปอยู่ที่อื่น จะเข้าเรียนต่อได้อย่างไร มีวิธีไหนช่วยให้เขาไม่ต้องหลุดไปเฉย ๆ ได้
นายวิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ กล่าวว่า จังหวัดนครพนมได้พัฒนาโมเดลจังหวัด โดยรวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาช่วยกันสร้างกลไก เชื่อมกันเป็นวงจรเพื่อไปสู่เป้าหมายว่า จะทำอย่างไรให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหมดจากจังหวัดได้ภายในสามปี ปีแรกของการทำงาน เร่งให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลเด็กและทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแบ่งปันและเชื่อมโยงงานกัน
เราพบว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีวิธีจัดการต่างกัน คือ 1.ต้นน้ำ หมายถึงกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน 2.กลางน้ำ คือเด็กแขวนลอย-หลุดนอกระบบ 3.ปลายน้ำ คือเด็กในกระบวนการยุติธรรม พอได้ฐานข้อมูลมาแล้ว เราจึงพัฒนาหลักสูตรและการประเมินใหม่ เช่น กลุ่มปลายน้ำ ทำงานร่วมกับสถานพินิจ ฯ เป้าหมายคือทำให้เด็กได้วุฒิก่อนกลับสู่สังคม นำตัวชี้วัดจำเป็นมาออกแบบให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขา ‘ต้องรู้’ มีเจ้าหน้าที่สถานพินิจช่วยเสริมในสิ่งที่ ‘ควรรู้’ และมีกรมฝีมือแรงงานหรือสถาบันอาชีวะมาช่วยต่อยอดในสิ่งที่เขา ‘อยากรู้’ จนเด็กในสถานพินิจได้รับวุฒิการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ เตรียมนำโมเดลไปขยายผลเพิ่มในอีก 6 จังหวัด
“สำหรับกลุ่มเสี่ยง ก่อนเด็กจะหลุดจะมีสัญญาณเตือน เช่น ติด 0 ติด ร. หลายวิชา ขาดเรียนบ่อย สุดท้ายเด็กก็หายตัวไปจากโรงเรียนเต็มตัว ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้แต่ละโรงเรียนมีจำนวนราว 5-10% เท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบคือต้องทำห้องเรียนพิเศษขึ้นมารองรับเด็กกลุ่มนี้จัดเป็นห้องเรียนตามอัธยาศัย แก้ปัญหาเป็นรายคน เช่น เด็กอยากซ่อมรถก็ให้ไปเรียนซ่อมที่อู่รถหนึ่งชั่วโมงให้เจ้าของอู่ช่วยประเมิน หรือจัดการฝึกฝีมือแรงานในสิ่งที่เด็กอยากเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบ
นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า “ไทรน้อยโมเดล” เป็นการทำงานร่วมกันกับ กสศ. ในการช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนต่อ การรับเด็กกลับเข้ามาเรียน จะมีระบบดูแลช่วยเหลือ โดยต้องยอมรับว่า เมื่อออกไปจากระบบ 1 เทอมแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการวัดผลประเมินผล ในช่วงหนึ่งภาคเรียนที่หายไป โดยให้มาเรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติม ใช้การประเมินแบบแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้สึกมีความสุข และปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียน มีคุณครูคอยช่วยเหลือ ที่สำคัญคือการกลับเข้ามาเราจะต้องรักษาพลังบวก ให้เขาผ่านไปตลอดรอดฝั่ง มีระบบดูแลช่วยเหลือ เมื่อเกิดปัญหา อุปสรรค การเรียน ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ให้พลังด้านลบมาบั่นทอนให้พวกเขาออกจากโรงเรียนไปอีกแล้วการดึงกลับเข้ามาจะยากลำบาก
น.ส.รังษินี นุ้ยพริ้ม ครูโรงเรียนบ้านค่าย จ.นราธิวาส กล่าวว่า การที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทำให้เกิดการติดตามและสกัดเด็กหลุดจากระบบได้เป็นอย่างดี ทั้งเครือข่ายชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อนร่วมโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ซึ่งการติดตามเด็กต้องไม่ใช่แค่การเรียน แต่ต้องครอบคลุมทั้ง จิตใจ ความเครียดสุขภาพกาย ความปลอดภัย เพราะความเครียดก็มีผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษา และเมื่อดึงเด็กกลับเข้ามาในระบบเราจะต้องมีวิธีฟื้นฟู ทั้งการลงไปเยี่ยมบ้านเด็กพูดคุยกับผู้ปกครอง บางคนเรียนออนไซต์เก่ง แต่พอเรียนออนไลน์ก็หายไปพอเยี่ยมบ้านก็พบว่าไม่มีอุปกรณ์แต่สุดท้ายทางชุมชนได้เข้าไปช่วยเหลือจนกลับมาเรียนได้ เมื่อกลับมาเรียนก็ต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี ให้เด็กมีตัวตน มีการตั้งคำถามที่เขาอยากตอบเน้นเรื่องที่เขาสนใจ