สทน.ชูผลงานไฮไลท์ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ลุยต่อปี65

สทน. ชูผลงานไฮไลท์ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ลุยต่อปี65 มุ่งขยายผลไปส่วนภูมิภาคร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆในพื้นที่

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลงานรอบ 16 ปีที่ผ่านมา ในงาน “งานวันสถาปนาครบรอบ ๑๖ ปี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สนท.ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประะยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ และจะขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ต่อไป โดยชูผลงานกิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งได้แก่ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ภายใต้ยุทธศาสตร์ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการยกระดับสังคมเชิงบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานมีความก้าวหน้าและจะทำต่อเนื่องในปี 2565 นี้

“โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” เป็นความพยายามเพื่อนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปช่วยผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทุกภาค ที่มีอาหารรูปแบบต่าง ๆและสมุนไพร เพื่อสร้างนวัตกรรมการฉายรังสีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านไทย เพื่อช่วยยกระดับสินค้าเพื่อให้สะอาด ปลอดภัยและมีมาตรฐาน และสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้

ด้าน ดร.กนกพร บุญศิริชัย ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน.กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่ทางสถาบันฯนำมาใช้กับอาหาร ในอนาคตอันใกล้เราจะเน้นเรื่องการขยายผลการฉายรังสีอาหาร โดยการฉายรังสีมีประโยชน์ ช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยชะลอการสุก ช่วยควบคุมแมลง และช่วยยืดอายุการเก็บ

ทั้งนี้จากยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ที่เน้นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงต้องการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน จึงมองถึงเรื่องของอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่น จึงมีกิจกรรมการฉายรังสีอาหารที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของอาหารพื้นถิ่น

โดยกิจกรรมที่ทำเริ่มครั้งแรกปี2563 มีการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีร่วมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยจัดประกวดเป็น Pitching idea เป็นการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ให้นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์อาหารที่จะนำไปฉายรังสี เป็นการประกวดระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก จากนั้นปี2564 ได้ขยายการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสี เป็นระดับปริญญาตรีและประชาชนทั่วไป เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการมาเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมุ่งขยายผลไปส่วนภูมิภาคร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆในพื้นที่ดำเนินการเรื่องอาหารพื้นถิ่น ซึ่งได้เริ่มแล้วในปี 2564 ในพื้นที่ภาคกลางก่อนโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ และจากสถานการณ์โควิด-19 จึงจัดแบบออนไลน์ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ บูรณาการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้กับอาหาร นวัตกรรม การทำตลาดและอื่นๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ

“มีการเปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจ ให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพที่จะฉายรังสีได้ หรือเรียกว่า พัฒนาผลิตภัณฑ์แชมเปียนส์ โดยเลือกผู้ประกอบการและทดลองฉายรังสีให้ ซึ่งเป็นการฉายรังสีเพื่อตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการเอง ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่า จะรับเทคโนโลยีฉายรังสีไปใช้หรือไม่”

ดร.กนกพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีฉายรังสีกับอาหารยังใช้ไม่แพร่หลาย เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่องค์การอนามัยโลก(WHO)​ให้การรับรองแล้วว่า การฉายรังสีให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีความปลอดภัย และไทยดำเนินการตามแนวทางของโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งเป็นองค์กรด้านความปลอดภัยอาหารมาตรฐานสากล โดยจะใช้ปริมาณรังสีไม่เกิน 10 กิโลเกรย์  ทั้งรังสีแกมมา รังสีเอ็กซเรย์ และรังสีอิเล็กตรอน ปริมาณรังสีที่ใช้กับอาหารมีปริมาณมากกว่าการฉายรังสีเพื่อตรวจโรค แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและไม่มีการตกค้าง

ขณะนี้สทน.มีโรงงานที่ให้บริการฉายรังสีครบทั้ง 3 ประเภท ผู้ประกอบการด้านอาหารสามารถมาใช้บริการฉายรังสีได้ที่ โรงงานที่เทคโนธานีคลอง5 จ.ปทุมธานี ซึ่งที่ผ่านมาผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร ผลไม้เพื่อส่งออก เพื่อชะลอการสุก เนื่องจากช่วยลดจุลินทรีย์จึงช่วยลดการเน่าเสีย ยืดอายุการเก็บ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วจะมีการติดฉลากสัญลักษณ์ที่เป็นสากล

ผู้ประกอบการด้านอาหารและสมุนไพรที่ประสงค์จะมาใช้บริการฉายรังสี ไปใช้บริการได้ที่โรงงานคลอง 5 โรงงานอื่นบริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อและเครื่องมือแพทย์

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.