วธ.เปิดเวทีการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” 

วธ. เปิดเวทีการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” เสริมศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนอัตลักษณ์เครื่องแต่งกายไทย

กระทรวงวัฒนธรรม โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แถลงข่าวโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย (Contemporary Fashion Competition 2022) ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย”   ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้  นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานในงานแถลงข่าว ฯ พร้อมด้วยนักออกแบบแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง ศิลปินนักแสดง ร่วมเชิญชวนนักออกแบบคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ไอเดีย การออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า ๑๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ๖ สถาบันการศึกษาชื่อดัง เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปะร่วมสมัย สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย

นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า “เพื่อตอบโจทย์ภายใต้แนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อน “Soft Power” ความเป็นไทย เพื่อสร้างรายได้และภาพลักษณ์   ที่ดีให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ซึ่งผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ เพราะบ่งบอกได้ถึงอัตลักษณ์ ความเป็นไทย พร้อมถ่ายทอดศิลปะภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีโครงการเกี่ยวกับผ้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สนับสนุนให้บุคลากรด้านการออกแบบแฟชั่นได้มีโอกาส มีเวทีเพื่อแสดงความรู้ ความสามารถในการออกแบบเครื่องแต่งกาย โดยนำผ้าไทย อันเป็นทุนทางวัฒนธรรม มาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน”

“สำหรับปีนี้ จึงได้จัดการประกวดการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด     “ไทยใส่สบาย” โดยกำหนดโจทย์คือ ต้องนำผ้าไทย ซึ่งก็คือ ผ้าที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝึมือคนไทย มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบ เพื่อให้คนไทย ได้เห็นว่า ผ้าไทยสามารถนำมาออกแบบได้อย่างสวยงาม ใส่ได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบาย

นอกเหนือไปจากการเป็นเวทีการประกวดที่ให้ นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถและพัฒนาฝีมือแล้วนั้น ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเรื่องผ้าได้มีช่องทางในการนำเสนอ ความหลากหลายของเส้นใย กรรมวิธีการผลิต สีสัน และลวดลาย เกิดองค์ความรู้      เรื่องของผ้าและการออกแบบเครื่องแต่งกาย ผ่านการนำเสนอผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม และความเห็นจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาเป็นผู้คัดเลือกและตัดสินผลงานการประกวดในครั้งนี้อีกด้วย”

“กิจกรรมดังกล่าว ได้รับเกียรติจากแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการตัดสิน อาทิ คุณศิริชัย ทหรานนท์ , คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ , คุณเอก ทองประเสริฐ และคุณบัญชา ชูดวง ก่อนที่ผลงานทั้งหมดจะนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชน ต่อไป

ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั้ง ๖ แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ที่จะจับมือกันส่งเสริมและเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมภายใต้กิจกรรมนี้”

นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ T-ra กล่าวถึงเสน่ห์ของผ้าไทยว่า “เสน่ห์ของผ้าไทยคือการทอด้วยมือและภูมิปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของตัวเองแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานทอผ้าในรูปแบบที่แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น ควรส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปในทุกๆ ด้าน  ไม่ใช่แค่เรื่องการทอผ้า และควรต่อยอดสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนของศิลปวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยไม่ให้หายสาบสูญไปตามกาลเวลา”

ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินผลงานรอบแรก จะทำการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นจำนวน ๑๒ คน จากหลักเกณฑ์ ดังนี้ ๑.แนวคิดในการออกแบบ ๒.ความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ในการนำลายผ้ามาออกแบบ ๓.เทคนิคที่ใช้ในการออกแบบ ๔.การเลือกใช้วัสดุและโทนสี ก่อนจะจัดสรรงบประมาณให้นำไปผลิตเป็นชุดต้นแบบเพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต่อไป สำหรับผลงานที่ชนะจะได้รับรางวัลเงินสดพร้อมโล่เกียรติยศ มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖๐,๐๐๐ บาท ผู้ที่สนใจสามารถส่งแฟ้มผลงานได้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๐๒ ๒๐๙ ๓๗๕๓ หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ocac.go.th 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.