วศ. ประชุมร่วมมือ สดช. -สวทช.เดินหน้าเทคโนฯเคลื่อนย้ายแห่งอนาคตเขตEECi

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยทีมนักวิจัย วศ. เข้าร่วมประชุม Autonomous Vehicle Living Lab at EECI ร่วมกับ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สดช. และดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พร้อมด้วยทีมนักวิจัย สวทช. ประชุมหารือความร่วมมือและโอกาสในการทำงานเพื่อสนับสนุนภารกิจของ สดช. และร่วมรับชมการสาธิตการทำงานของรถกอล์ฟขับขี่อัตโนมัติ ณ ลานพระรูป ร.4 หน้าอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซอยโยธี กรุงเทพมหานคร

นพ.ปฐมฯ อธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ. มีพันธกิจวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม พัฒนาระบบการวัด และระบบมาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนสู่เชิงพาณิชย์ มีภารกิจโดยตรงทางด้านการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรให้ความสำคัญในการริเริ่มให้เกิดการศึกษา พัฒนาและผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต จึงเกิดโครงการเชิงบูรณาการร่วมกัน วศ.จึงได้วิจัยและพัฒนารถกอล์ฟอัตโนมัติขึ้น (Autonomous Golf Cart) โดยให้นายปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (นอ.) และทีมงานวิจัยพัฒนาในด้านระบบ DRIVE BY WIRE สำหรับควบคุมพวงมาลัย เบรกและคันเร่งด้วยสัญญาณไฟฟ้าควบคุมด้วยสมองกลฝังตัว ระบบควบคุมระยะไกลแบบบังคับมือด้วยสัญญาณวิทยุ และการพัฒนาวิธีทดสอบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและหุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่ได้เพื่อวัดสมรรถนะและความปลอดภัยในการใช้งาน

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ทั้งสามฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะร่วมมือผลักดันนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยี CAV อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สดช.ให้ความสนใจในด้านการจัดตั้ง Living Lab หรือพื้นที่ลองผิดลองถูก แบบ SANDBOX ที่ สวทช. และ EECi กำลังดำเนินการอยู่เป็นอย่างมาก และเห็นพ้องว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ทดลองแบบเสมือนการใช้งานจริงเช่นที่ EECi โดยจะให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถใช้งานได้จริงและใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทต่างชาติในด้านที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทุนและสร้างระบบนิเวศน์ทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and Ai) ให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.