นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พร้อมด้วย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานประชุมออนไลน์ระหว่าง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อกำหนดแนวทางทำงานร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการต่างประเทศ
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการทูตวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวถือเป็นที่น่าสนใจและจับตามองในการพูดคุยหารือเวทีโลก ยิ่งในภาวะที่โลกประสบวาระเร่งด่วนคือการแก้ปัญหาโควิดด้วยแล้ว การสื่อสารและการพูดคุยถึงด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมถือเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ โอกาสนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีแนวนโยบายในการหารือครั้งนี้คือ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ตลอดจนมีเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับต่างประเทศที่เป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนเห็นโอกาสของอาชีพวิทยาศาสตร์และก้าวเข้าสู่แวดวงนี้กันมากขึ้น
ต่อมา ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ฉายภาพถึงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยในปัจจุบันให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าใจถึงแนวทางการทำงานมากขึ้น โดยให้ข้อมูลว่าไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เห็นได้จากการที่เรามีหน่วยงานด้านนี้หลายหน่วยงาน เพียงแต่ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เป็นการควบรวมการทำงานให้อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน เพื่อการเสริมแรงให้การทำงานสอดประสานกันได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น โดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ได้ฉายภาพให้ที่ประชุมมองเห็นถึง ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้าน ววน. ของประเทศไทย และแนวทางความร่วมมือกับต่างประเทศของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ประเด็นมุ่งเน้นด้าน ววน. ของประเทศอย่างเรื่องบีซีจี (BCG Economy) มากขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของการประชุมได้มีการระดมสมอง ออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง เพื่อหนุนเสริมการทำงานด้านการพัฒาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเชื่อมร้อยการทำงานกับหน่วยงานด้านนี้ในต่างประเทศ ผ่านสัมพันธไมตรีทางการทูตที่ดี โดยมี นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
พร้อมด้วยผู้บริหารจากสถานทูตไทยในต่างประเทศ อาทิ นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นเพื่อวางแผนการทำงาน เบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ประเด็นเรื่อง รถยนต์ไฟฟ้า (EV)และ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) รวมถึงประเด็นการเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (Silver Society) ถือเป็นประเด็นที่หลายประเทศ ให้ความสำคัญเพราะเกี่ยวพันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ โดยการวิจัยและออกแบบนวัตกรรมมามากมาย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากการหารือกันในวันนี้จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป