วันนี้ (30 กรกฎาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม Science and Technology Organization Forum (STO Forum) ครั้งที่ 3/2564 โดยเชิญผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เข้าร่วมระดมสมองหารือถึงแนวทางการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแนวทางการสนับสนุนงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) สำหรับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ
โอกาสนี้ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของ สกสว. กับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ในการร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งเป็นความคืบหน้าจากการดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ความร่วมมือการพัฒนานี้จะนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทยแบบไร้รอยต่อ
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่สามารถก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทางด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ได้นำเสนอถึงแนวทางการสนับสนุนงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยที่ผ่านมา สกสว. ได้ระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้กรอบกิจกรรมสำคัญและรายละเอียดของลักษณะโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากนั้น สกสว. ได้เสนอกรอบแนวคิดและแนวทางการสนับสนุน “โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี” ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรม และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)
โดยกองทุนส่งเสริม ววน. มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในหลากหลายมิติ ครอบคลุมถึงการพัฒนาต้นทุนทรัพยากรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นเป็นไปตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. โดยมีกิจกรรมสำคัญสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงและตอบโจทย์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ
3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. และโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ 4) การให้บริการเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย 5) การสื่อสารและสร้างเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ด้าน ววน.
ทางด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้นำเสนอแนวทางการบริหารและใช้ประโยชน์จากศูนย์ไซโคลตรอน โดยอธิบายว่า เครื่องไซโคลตรอนถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ โดยปัจจุบัน สทน. อยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างศูนย์ไซโคลตรอนของประเทศ
ซึ่งไซโคลตรอนนั้นเป็นเครื่องเร่งอนุภาคไอออน ปัจจุบันการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในภาคธุรกิจรวมถึงทางด้านการแพทย์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสารเภสัชรังสี อย่างเช่นไอโซโทปที่ใช้สำหรับการตรวจและรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันมีการนำเครื่องไซโคลตรอนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสารเภสัชรังสีเกี่ยวกับการทำ Proton Therapy
การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน มีข้อดีคือสามารถปล่อยพลังงานเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการ ไม่ทำให้เกิดแผล สามารถปล่อยพลังงานเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ต้องการ ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด เช่น สามารถใช้ในการรักษามะเร็งสมอง เป็นเทคนิคที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สทน. มีแผนการพัฒนาศูนย์ไซโคลตรอนเพื่อให้บริการงานวิจัยในด้านต่างๆ ด้วย ซึ่งการติดตั้งเครื่องคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 สามารถเป็นศูนย์กลางในการให้บริการผลิตสารเภสัชรังสี ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคด้วยเภสัชรังสีในราคาที่เข้าถึงได้ ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
นอกจากนี้การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันระดมสมองเกี่ยวกับการร่วมกันพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ