พม. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเด็ก-เยาวชน ทั่วประเทศ มุ่งสร้างเครือข่ายต่อต้านการค้ามนุษย์

พม. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ทั่วประเทศ มุ่งสร้างเครือข่ายต่อต้านการค้ามนุษย์

     วันนี้ (24 ส.ค. 64) เวลา 10.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ระดับพื้นที่ ซึ่งกระทรวง พม. โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2564 โดยอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม ZOOM Meeting ให้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 8 รุ่น รวมทั้งสิ้น 3,800 คน ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด เครือข่ายเด็กและเยาวชนในจังหวัด จำนวน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยตระหนักว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งปัจจุบันการค้ามนุษย์ยังปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบและความเสียหายอย่างรวดเร็วในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นและเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการป้องกันที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และเครือข่ายในระดับพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการสร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชน เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มแข็ง

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม.  ได้เล็งเห็นถึงผู้ที่จะเป็นกลไกสำคัญของการเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มแข็งในพื้นที่ทั้งในชุมชนและสถานศึกษา คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน จึงได้จัดโครงการ “เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ระดับพื้นที่” เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยจากการค้ามนุษย์สำหรับเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสถานการณ์ รูปแบบการค้ามนุษย์ออนไลน์ในปัจจุบัน การแจ้งเบาะแสและการขอรับความช่วยเหลือ รวมถึงสามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการค้ามนุษย์และไม่ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในชุมชนหรือสถานศึกษา โดยกระทรวง พม.ได้สร้างกลไกรองรับการชี้เป้าเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง และแอพพลิเคชั่น Protect-U เป็นช่องทางสำหรับการประสานงานช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุการณ์ค้ามนุษย์ในพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นับเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ชุมชน และสถานศึกษา เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่จังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

#

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *